Select Page

ศอ.บต. ชู 10 ปอเนาะผู้สูงวัยต้นแบบ จ.ยะลา ดูแลผู้สูงอายุ พร้อมขยายสู่พื้นที่ 3 จชต. เพื่อรองรับผู้สูงวัยที่มีกว่า 2.2 แสนคน

    นโยบายการพัฒนาไร้รอยต่อเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาชายแดนใต้ ถือเป็นนโยบายหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนาในทุกมิติ ซึ่งในวันนี้ ( 14 พ.ย. 61 ) ศอ.บต. ได้ให้ความสำคัญในมิติในด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รักษาราชการแทนเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดประชุมหารือแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยอาศัยสถาบันศึกษาปอเนาะ เพื่อส่งเสริมการศึกษาและอาชีพแก่ผู้สูงอายุ สอดรับนโยบายสังคมสูงวัยของรัฐบาล และผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ซึ่งได้นำร่องยกระดับสถาบันปอเนาะผู้สูงอายุไปแล้ว 10 แห่ง ในพื้นที่ อ.เมือง อ.รามัน ของ จ.ยะลา ในปี 2561 ภายใต้โครงการจัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวม ตามวิถีอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้

    สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่มีการเสนอและให้ข้อคิดเห็นว่า ผู้สูงอายุที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ในพื้นที่มักเลือกเข้าเรียนศาสนาในสถาบันปอเนาะ เพื่อมุ่งศึกษาทางธรรม ให้คลายกังวลเรื่องการใช้ชีวิตในโลกหน้า การที่ศอ.บต. ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นอันดับแรก เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่ควรเน้นการสร้างอาชีพเพื่อให้รายได้เงินเก็บออม เพราะไม่ได้เป็นเรื่องหลักที่ผู้สูงอายุนึกถึง แต่ควรเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อสร้างความภูมิใจ

    นอกจากนี้ ศอ.บต. ยังได้เปิดเผยเอกสารระบุข้อมูลของผู้สูงอายุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ปัจจุบันมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 227,110 คน และในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือกว่า 122,654 คน มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้สนับสนุนให้นักเรียนผู้สูงวัยปลูกผักสวนครัวระยะสั้น เลี้ยงปลาดุก ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ และขยายพันธ์มะนาว เพื่อสร้างอาชีพและรายได้แก่นักเรียนด้วย

    พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงการประชุมหารือในวันนี้ว่า เป็นการพัฒนาแบบไร้รอยต่อ ในการช่วยเหลือและสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ดูแลประชาชนทุกภาคส่วน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว ซึ่งภายหลังลงพื้นที่ พบผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องสุขภาพอนามัย อาชีพและความเป็นอยู่ กว่า 20,000 คน จึงเป็นที่มาของการร่วมหารือในครั้งนี้ เพื่อให้สถาบันปอเนาะในพื้นที่กว่า 400 สถาบัน เป็นสถาบันหลักในการดูแล เนื่องจากผู้สูงวัยที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่เลือกอาศัยอยู่เพื่อเรียนศาสนา

    ด้านนายอับดุลเราะห์มาน มะเกะ ผู้บริหารปอเนาะดารูลอูลูมวิทยา หนึ่งในสถาบันปอเนาะนำร่องที่ดูแลผู้สูงอายุและส่งเสริมด้านอาชีพ ต.ยะต๊ะ จ.ยะลา เผยว่า สถาบันปอเนาะเป็นหัวใจ สถานที่เรียนรู้และที่พักพิงของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ บั้นปลายของผู้สูงอายุในพื้นที่ส่วนใหญ่เลือกเรียนศาสนาที่ปอเนาะ มุ่งหน้าสู่การศึกษาเพื่อโลกหน้า จึงขอขอบคุณรัฐบาลที่เข้าใจ เข้าถึงการแก้ปัญหาในครั้งนี้  เนื่องจากบางโรงเรียนยังขาดแคลนและมีความไม่พร้อมในการดูแล อำนวยความสะดวกผู้สูงอายุ จึงเป็นการดีที่ ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเติมเต็มเพื่อให้การเรียนรู้ศาสนาในบั้นปลายชีวิตเป็นไปอย่างดียิ่งขึ้น

    อย่างไรก็ดี รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. ได้มอบหมายให้ 10 สถาบันปอเนาะนำร่อง ขยายผลการส่งเสริมอาชีพและดูแลผู้สูงอายุสู่ปอเนาะตำบลละ 1 แห่งใน จ.ยะลา ส่วน จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส มอบหมายเจ้าหน้า ศอ.บต. เร่งสรรหาและคัดเลือกสถาบันปอเนาะเพื่อร่วมดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 761 total views

ศอ.บต. เน้นงบปี 62 พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การสร้างความเข้าใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้

    วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2561) ที่ห้องประชุมปัญจเพชร ศอ.บต. พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร   รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยมี ผู้อำนวยการสำนัก/กอง ต่างๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่บุคลากร ศอ.บต. เข้าร่วมประชุม
    สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการหารือเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายและในเรื่องแผนการปฏิบัติการเสริมการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยแนวทางเสริมการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมุ่งเน้นการเสริมการพัฒนาหน่วยงานพลเรือนให้เชื่อมโยง เชื่อมต่อ อุดช่องว่าง ไร้รอยต่ออย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทางและให้เกื้อกูลต่อการดำเนินงานระยะที่ 3 ของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. คือการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ประกอบด้วยแนวทางสำคัญ 6 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการภาครัฐ การพัฒนาเพื่อความมั่นคง การสร้างความเข้าใจ
    ทั้งนี้ในที่ประชุมได้แลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็น รวมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดขึ้นโดยเร็วต่อไป

 199 total views

นักธุรกิจชาวนราธิวาสนำเสนอแอพพลิเคชั่นศูนย์รวมสินค้าชายแดนใต้ให้กับ ศอ.บต.

    วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2561) ที่ ห้องรับรองเลขาธิการ ศอ.บต. พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. ให้การต้อนรับ นักธุรกิจจากจังหวัดนราธิวาสซึ่งนำเสนอแอพพลิเคชั่นให้กับ ศอ.บต. ในการเป็นศูนย์รวมสินค้าชายแดนใต้และเป็นฐานข้อมูลในการต่อยอดให้กับผู้ประกอบรายอื่นๆ รวมถึงผู้ที่สนใจเข้ามาหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าชายแดนใต้

    ในการพบปะครั้งนี้ รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนผลักดันธุรกิจของคนในพื้นที่ ซึ่ง ศอ.บต. ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประชาชนถือเป็นเรื่องที่ดี สำหรับแอพพลิเคชั่นนี้ ก็ถือว่าประชาชนได้ประโยชน์ ทั้งในส่วนของกลุ่มนักธุรกิจในพื้นที่และผู้ประกอบการรายอื่นๆที่ต้องการสินค้าจากจังหวัดชายแดนภาคใต้

    ทั้งนี้ล่าสุดนักธุรกิจกลุ่มดังกล่าวได้จัดทำแอพพลิเคชั่น NARA PLUS เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับเลือกซื้อสินค้าในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นทั้งในระบบ IOS และ Androidได้อีกด้วย

 144 total views

ศอ.บต. พร้อมหนุน สนช. สร้างนักธุรกิจหน้าใหม่ จชต. แนะดึงนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จถ่ายทอดประสบการณ์ หวังสร้างเครือข่ายนักธุรกิจหน้าใหม่ในพื้นที่

    จากการที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบาย Thailand 4.0 ในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจ Startup ที่มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดทำบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ในการขับเคลื่อนธุรกิจ Startup จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นรูปธรรมที่ผ่านมา

    โดย วันที่ 13 พ.ย. 61 เวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้เข้าพบ   พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทน เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ที่ห้องรับรองชั้น3 อาคารอเนกประสงค์ ศอ.บต. เพื่อปรึกษาหารือในการกำหนดแนวทางการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมแผนโครงการ “การส่งเสริม Startup/SMEs ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ภายใต้การบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งได้สรุปผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา โดยสามารถคัดเลือกนักธุรกิจรุ่นใหม่ จชต. จำนวน 8 ราย เพื่อการสนับสนุนทุนโครงการละ 1.5 ล้านบาท และส่งเสริมการตลาดจัดหานักลงทุนที่จะมาลงทุนในอนาคต

     พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวช่วงหนึ่งของการหารือว่า  เป้าประสงค์ของ สนช. กับ ศอ.บต. ตรงกันในเรื่องการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งในขณะนี้เริ่มมีผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน และต้องเร่งขยายฐานของการดึงเครือข่ายให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การพัฒนาไร้รอยต่อ มิติใหม่พัฒนาชายแดนใต้ ของ ศอ.บต. ได้เริ่มดำเนินการในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนบทบาทในการเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาประชาชนทุกช่วงวัยสู่ความเท่าเทียมกัน มีเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาเศรษฐกิจ โดยต้องสามารถสร้างงาน กระจายอาชีพและรายได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งทั้งหมดต้องรองรับการมีงานทำของคนในพื้นที่ ทั้งนี้การทำเกษตรแปรรูป หรือเกษตรยุคใหม่ จำเป็นที่ต้องใช้นวัตกรรมในการหนุนเสริม ลดพื้นที่และต้นทุนในการผลิต  แต่สามารถให้ผลผลิตคุณภาพสูง และตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งต้องอาศัยคนรุ่นใหม่มาตอบสนองการพัฒนา และต่อยอดด้วยนวัตกรรม เพื่อให้ทุกคนมีงานทำ สามารถสร้างคุณค่าและจุดยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่

    อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. แนะ สนช.  เพื่อการต่อยอดในการดำเนินการด้วยการให้นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาร่วมสร้างแรงกระเพื่อมถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อให้เกิดวงล้อมในการสร้างอาชีพ และเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการสร้างฐานนักธุรกิจหน้าใหม่ ซึ่งในอนาคตจะมีการเปิดศูนย์การค้า Small Thailand ซึ่งเป็นตลาดฮาลาลขนาดใหญ่ที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน โดยพร้อมรองรับสินค้าของนักธุรกิจในสามจังหวัดชายแดนใต้ อีกทั้งรองเลขาธิการ ศอ.บต. จะมีกำหนดเดินทางไปยังประเทศอียิปต์และจอร์แดนเพื่อพบปะนักศึกษาไทย ซึ่งจะใช้โอกาสนี้ ในการสร้างความเข้าใจและแนะแนวการสร้างอาชีพด้วยการใช้นวัตกรรม เพื่อให้สามารถรองรับการมีงานทำของนักศึกษาต่อไป

 197 total views

ศอ.บต. บูรณาการทุกภาคส่วน ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคหัด หลังพบระบาดต่อเนื่องใน จชต. ตั้งเป้าปี 2563 พื้นที่ปลอดหัด

     สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคหัดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีและคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 พบเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี เสียชีวิตจากโรคหัดแล้ว จำนวน17 คน โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคหัด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเร่งหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในวันนี้ (13 พฤศจิกายน 2561 ) พลเรือตรี สมเกียรติ   ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทน เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุม  หาแนวทาง การป้องกัน การแพร่ระบาดโรคหัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี สำนักงานป้องกัน ควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำศาสนา สำนักงานสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ อสม. จากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประชุม
    พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชแทนเลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นไปตามที่ รัฐบาลกำหนดให้ ศอ.บต. มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน และการพัฒนา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แบบไร้รอยต่อ และครบวงจร ซึ่งเป็นมิติใหม่ชายแดนใต้ โดยในครั้งนี้ ศอ.บต.ได้เชื่อมโยงทางการแพทย์สาธารณสุข และสังคม ในดำเนินการป้องกัน รักษา และควบคุม การแพร่ระบาด ร่วมกับ กอ.รมน. ภาค 4 สน. ผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรศาสนา หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และองค์ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยเน้นมาตรการป้องกันให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงอายุตั้งแต่ 9 เดือน – 5 ปี เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรคหัด ซึ่งในกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนนั้นจะสามารถป้องกันการเกิดโรคหัดได้ร้อยละ 95
    รองเลขาธิการ ศอ.บต. รักษาราชแทนเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาสถานศึกษาอยู่ในช่วงปิดภาคเรียน เด็กอาจจะเดินทางไปอาศัยในต่างพื้นที่ รวมถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้ปกครองบางส่วนในการรับวัคซีนเพื่อป้องรักษาโรคหัด ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหา และ ควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้อย่างยั่งยืน ศอ.บต .จึงได้กำหนดเป้าหมาย “ปี 2563 พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ปลอดโรคหัด” โดยมีการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีระบบการติดตามอย่างดี ใน เป้าหมาย ขั้นต้นเด็ก อายุ 9 เดือน – 12 ปี ที่ ถึงวัยฉีดวัคซีน ต้องฉีดวัคซีน ร้อยละ 95 และในอนาคตเด็ก จะต้องฉีดครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของการสร้างความเข้าใจ ได้จัดทำเอกสาร ข่าวสั้น รณรงค์ สร้างความเข้าใจทั้ง ภาษาไทย และมลายู รวมทั้งองค์กรศาสนาได้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกพื้นที่
     ด้านนายอาหาหมัดอับดุลห์ หะยีมะ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด นราธิวาส  กล่าวด้วยว่า วัคซีนที่นำมาใช้ส่วนใหญ่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตัวยาที่นำมาใช้มีความถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งวัคซีนโรคหัดก็เป็นหนึ่งในวัคซีนที่ไม่สามารถยืนยันได้เช่นกัน แต่ตามหลักศาสนาอิสลามอนุโลมให้ใช้ได้เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาด และหากตัวยาได้รับการพิสูจน์แล้ววัคซีนตัวนี้มีสารที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในพื้นที่ หรือสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งถือเป็นองค์กรที่สูงสุดของประเทศไทย จะมีการประกาศแจ้งให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบอย่างแน่นอน
    ทางด้าน นพ.มูหมัดดาโอ๊ะ เจะเลาะ ที่ปรึกษาสมาคมจันทร์เสี้ยว การแพทย์และสาธารณสุข เปิดเผยอีกด้วยว่า วัคซีนโรคหัดเป็นวัคซีนที่มีเชื้อหัดที่ยังมีชีวิตอยู่แต่อ่อนแอลง ซึ่งจะทำงานโดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ให้หลั่งภูมิคุ้มกันออกมาต่อสู้กับเชื้อ ซึ่งภูมิคุ้มเหล่านี้จะหลั่งออกมา และสามารถป้องกันการติดเชื้อหัดได้หากมีการติดเชื้อในอนาคต โดยเฉพาะมนุษย์ถือเป็นพาหะหรือแหล่งเพาะเชื้อโรค แต่หากทุกคนมีภูมิต้านทานของโรคที่ดี เชื้อที่เข้าไปสู่ร่างกายก็จะไม่สามารถเพาะเชื้อโรคได้ แต่จะถูกทำลายด้วยภูมิต้านทานที่เรามี เชื้อโรคดังกล่าวนั้นก็จะหายไป

 98 total views