Select Page

สร้างมูลค่ามะพร้าวในพื้นที่ ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไร้รอยต่อ

     บริษัทแปรรูปมะพร้าวหนองจิกพัฒนา เป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ภายในโรงงานปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยในขณะนี้มีการสร้างอาคารหลังใหม่เพื่อรองรับผลผลิตจากมะพร้าวของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ ปีละ 24,000,000 ลูก  ต่อปี ที่จะนำเอามะพร้าวมาจำหน่ายในราคาที่ได้มาตรฐาน โดยมะพร้าวที่ได้จะนำมาแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ ที่ผลิตจากมะพร้าวเป็นหลัก อาทิ กะทิบรรจุกล่อง มะพร้าวสกัดเย็น เป็นต้น
     โดยวันนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมบริษัทแปรรูปมะพร้าว หนองจิกพัฒนา พร้อมกันนี้ ยังได้ร่วมในงานทำบุญโรงงานหลังใหม่ของบริษัทหนองจิกพัฒนา อีกด้วย โดยมี ผู้ประกอบการของบริษัทหนองจิกพัฒนา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความยินดีกันเป็นจำนวนมาก
     อย่างไรก็ตามศูนย์อำนวยบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เน้นย้ำ แผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้มุ่งให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไร้รอยต่อ ส่งเสริมเรื่องของเกษตรเชิงคู่ โดยให้เกษตรจังหวัดปัตตานีสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ เพื่อขยาย และเพาะปลูกมะพร้าวในพื้นที่ เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ รวมถึงต่อยอดผลผลิตจากมะพร้าวสู่ตลาดที่จะรองรับในอนาคต

 465 total views

องคมนตรีลงพื้นที่จังหวัดยะลา ร่วมประชุมหน่วยงานความมั่นคง พร้อมอัญเชิญสิ่งของพระราชทานมอบให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ และเยี่ยมชมการดำเนินงานภายในโรงเรียนพระดาบส

     วันที่ 31 ตุลาคม 2561 เวลา 10.20 น. พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. รักษาราชการแทนเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมต้อนรับ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เดินทางมาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานกาณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงติดตามการดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนพระดาบส จังหวัดชายแดนภาคใต้
     โดยจุดแรก พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ได้เข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุม 1 ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อติดตามการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบตลอดจนติดตามสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังคงเน้นให้ทุกหน่วยงานทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
     จากนั้น เวลา 12.00 น. พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ได้เดินทางไปที่บ้านเลขที่ 74/16 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา  พร้อมอัญเชิญสิ่งของพระราชทาน จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มอบให้แก่นายประสงค์ จอมเพ็ชร  เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เนื่องจากนายประสงค์ จอมเพ็ชร ได้สูญเสียภรรยา คือ นางอารมย์ จอมเพ็ชร อายุ 46 ปี และนายกวินท์ ชวิศสกุล อายุ 27 ปี บุตรชาย จากเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่จนเสียชีวิต เหตุเกิดขณะที่ กำลังนั่งรับประทานอาหารในร้านน้ำชาบ้านควน หมู่ที่ 2 ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา
     ในการนี้ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งทรงห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้องคมนตรี มาเยี่ยมเยียน เชิญสิ่งของพระราชทาน มามอบเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ซึ่งการได้รับสิ่งของพระราชทาน ครั้งนี้ มีความปลาบปลื้ม ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้ แก่ครอบครัวและญาติพี่น้องของนายประสงค์ จอมเพ็ชร เป็นอย่างมาก
     ด้าน นายเปรมศักดิ์ จอมเพ็ชร บุตรของผู้เสียชีวิต ได้เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้ทุกคนในครอบครัวเสียใจเป็นอย่างมาก จนถึงตอนนี้ก็ยังทำใจไม่ได้แต่อย่างไรก็ตามชีวิตต้องดำเนินต่อไป และวันนี้เป็นสิ่งที่ปลาบปลื้มอย่างมาก ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงห่วงใยตนเองและครอบครัว ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้
     จากนั้น เวลา 12.30 น. พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยมีคณะครูและนักเรียนร่วมให้การต้อนรับ พร้อมสาธิตวิธีการเรียนภาคปฏิบัติในวิชาพื้นฐานช่างเชื่อม ช่างกล วิชาการเดินสายไฟภายในอาคาร และตรวจดูพื้นที่ปลูกผักปลอดสารพิษของนักเรียนในโรงเรียน พร้อมร่วมประชุมติดตาม ประเมินผล การปฏิบัติงานของโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดยะลา
     สำหรับโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโรงเรียนแห่งที่ 2 ของมูลนิธิพระดาบส ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริว่า เยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาสำคัญ คือ ขาดการศึกษา มูลนิธิพระดาบสจึงสนองพระราชดำริในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภายใต้ปรัชญาพระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา โดยเปิดสอนหลักสูตร ช่างซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ ช่างซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตร ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ และช่างไฟฟ้า โดยคัดเลือกนักเรียนจากคุณสมบัติ เป็นผู้ขาดโอกาสทางการศึกษาและขาดแคลนคุณทรัพย์ เพื่อส่งเสริมเยาวชนให้มีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพในพื้นที่ต่อไป

 122 total views

ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จชต. พร้อมยืนเคียงข้างปชช.ไทยพุทธ เร่งแก้ไขปัญหาวัดร้าง ไม่มีพระสงฆ์ เพื่อไม่ให้รู้สึก เป็นพลเรือนชั้นที่ 2

    ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดให้มีการประชุมเครือข่ายเพื่อร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมคุณภาพระบบการศึกษา ศาสนา ภาษา ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมและเพื่อสนับสนุนองค์กรทางศาสนาทุกศาสนา ให้เป็นศูนย์กลางในการปลูกฝังจริยธรรม แหล่งเรียนรู้ทางศาสนา รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ ศอ.บต. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) และหน่วยงานในพื้นที่ร่วมส่งเสริม สนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานการประชุม และมี พ.อ อนุชา โนนคู่เขตโขง รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีพระศิริปัญญาคุณ เจ้าคณะอำเภอยะหา อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา รับฟังปัญหาและข้อเสนอ และมีเจ้าคณะจังหวัดและอำเภอ ผู้แทนส่วนราชการ เครือข่ายไทยพุทธในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เข้าร่วมประชุม เพื่อเสนอปัญหาและข้อแนะนำในการแก้ไข พัฒนาวัดและพี่น้องไทยพุทธในพื้นที่

    พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รักษาราชการแทน เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงจุดประสงค์ในการประชุมในครั้งนี้ว่า เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเสนอปัญหา เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ในดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และต้องการให้พี่น้องชาวไทยพุทธมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งศอ.บต.และแม่ทัพภาคที่ 4 มีความต้องการดูแลพี่น้องประชาชน เติมเต็มสภาวะแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลเรือน ในส่วนที่เคยร้องขอ และเสนอ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข ศอ.บต.จะเร่งดำเนินการและขับเคลื่อนเพื่อไม่ให้พี่น้องไทยพุทธในพื้นรู้สึกเป็นพลเรือนชั้นที่ 2 และรู้สึกโดดเดี่ยว เนื่องจากเห็นความสูญเสียรายวัน ในส่วนของแม่ทัพภาคที่ 4 ก็จะดูแลเรื่องความมั่นคง ให้ความรู้สึกปลอดภัยในพื้นที่ด้วย

    ด้านนายวิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์ นายกพุทธสมาคม จังหวัดยะลา ผู้แทนเครือข่ายชาวพุทธ ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมเสนอปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาในวันนี้ว่า เป็นการวางแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เพราะการที่ได้เชิญพระคุณเจ้ามาร่วมเสนอแนะปัญหานั้น จะทำให้ ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นปัญหาต่างๆชัดเจนขึ้น  ในส่วนปัญหาการศึกษาที่มีเสียงส่วนใหญ่เสนอให้เร่งแก้ไข ก็เพื่อให้เยาวชนและชาวพุทธมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า อย่างไรก็ดี การอยู่ร่วมกันของทุกศาสนาไม่ใช่อุปสรรคและเหตุผลหลักในการพัฒนาพื้นที่ให้ดีขึ้น มองว่าควรถ้อยทีถ้อยอาศัย เพื่อความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

    ทั้งนี้ที่ประชุมมีการเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลากหลาย อาทิ ปัญหาวัดร้าง วัดไม่มีพระสงค์ การซ่อมแซมบูรณะวัด การพัฒนาพื้นที่โดยรอบของวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การส่งเสริมการศึกษาแก่ลูกหลานของพี่น้องไทยพุทธ พร้อมเสนอให้เข้าดูแลชุมชนเข้มแข็ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์หรือความน้อยใจแก่ประชาชนในพื้นที่ และปัญหา

    ที่ดินสร้างวัดหรือสำนักสงฆ์ ที่ยังเป็นที่ดินราชพัสดุ เป็นต้น ทั้งนี้มีพระสงฆ์ที่เข้าร่วมประชุมหลายรูป ได้กล่าวถึงปัญหาที่แท้จริงว่า เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง ที่จะทำให้ศาสนาถดถอยหรือยั่งยืน แต่ขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่ที่จะร่วมด้วยช่วยกันในการเข้าศึกษาพระธรรม ทำจิตใจให้โปร่งใส คิดดี และทำดี ส่วนปัญหาอื่นๆนั้นเป็นปัญหาเล็กน้อย และสามารถแก้ไขได้  ซึ่งรักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. ยืนยันที่จะรับปัญหาทุกปัญหาเพื่อพิจารณาแก้ไข หรือทำหนังสือส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการต่อไป

    อย่างไรดีในปีงบประมาณ 2561 สำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ศอ.บต. ได้ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมและโครงการของศาสนาพุทธในหลายโครงการ อาทิ งานประเพณีชักพระ กิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชา  กิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งทางพระพุทธศาสนา ประเพณี วันเข้าพรรษา ประจำปี 2561 กิจกรรมบรรพชาอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กิจกรรมยกย่องพระผู้ควรกระทำอัญชลี กิจกรรมพัฒนาสังคมกลุ่มไทยพุทธเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นต้น โดยใช้งบประมาณในการสนับสนุนกิจกรรมทางด้านศาสนาพุทธในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา รวมทั้งสิ้นกว่า 8 ล้านบาท

 128 total views

กองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. ต้อนรับคณะองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) สำนักงานภาคพื้นเอเชีย เยือน จชต. ร่วมกันหาแนวทางขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาในพื้นที่

    ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลกำหนดให้ทุกประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการประสานและปฎิบัติภารกิจต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมุ่งแบ่งปันและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคงร่วมกันอันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างราบรืนและยั่งยืน โดยส่งเสริมปฎิสัมพันธ์ในทุกระดับและทุกด้านกับนานาประเทศซึ่งล่าสุดในระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2561 องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) สำนักงานภาคพื้นเอเชีย นำโดย นางสาวเจ็ซซิกา ซามานน์ ผู้อำนวยการสำนักการพัฒนาทางเศรษฐกิจและกลุ่มประชากรผู้เปราะบาง องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) สำนักงานภาคพื้นเอเชีย นางสาวจูเลีย มอกห์ เลขานุการฝ่ายการเมืองประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกากรุงเทพมหานครประจำประเทศไทย  และนายเดวิท พอตเทบาวน์ หัวหน้าผู้ประสานงานโครงการ Together ในประเทศไทย  มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยในวันนี้ (30 ตุลาคม 2561) พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทน เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มอบหมายให้ นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม/รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศ ให้การต้อนรับและพูดคุยหารือแนะนำโครงการส่งเสริมประชาธิปไตยของรัฐสภาสหัฐอเมริกา ในโครงการ Together
    นางสาวเจ็ซซิกา ซามานน์ กล่าวว่า ในปีนี้ทางประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและเป็นมิตรกันมา  200 ปีแล้ว ในส่วนของการพัฒนา USAID ได้มีโครงการด้านธรรมภิบาลและการจัดการความขัดแย้งในภาคใต้ ซึ่งในปีนี้ทางรัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้ให้งบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อให้ร่วมกับประเทศไทยในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทั้ง 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย ภาครัฐบาล องค์กรภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในประเทศไทย USAID จึงได้มีโครงการ Together ขึ้นมา
    ด้าน นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ได้กล่าวขอบคุณคณะองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ที่มีโครงการด้านการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จชต. ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้หลายๆหน่วยงานมามีส่วนร่วมกันพัฒนาในพื้นที่  สร้างความเข้าใจถึงบริบทที่มีความหลากหลายทั้งกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรี ด้านความยุติธรรม เริ่มจากสถาบันครอบครัวที่เป็นสิ่งสำคัญจะต้องให้มีความเข้าใจในบทบาทของตนเอง ตลอดจนการขับเคลื่อนในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการเน้นไปยังประชาชนที่จะต้องได้รับประโยนช์สูงสุดในระยะยาว ซึ่งนั่นถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน
    อย่างไรก็ตาม โครงการส่งเสริมประชาธิปไตยของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ในโครงการ Together นั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการพัฒนาความตกลงร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียในการลดปัญหาความขัดแย้งในประเทศ  การพัฒนากลไกลการขับเคลื่อนเป้าหมายของหน่วยงานภาครัฐ ตามผลสัมฤทธิ์และเสียงตอบรับจากประชาชน และการพัฒนาศักยภาพของภาคประชาสังคมในการช่วยเหลือสนับสนุนผลประโยชน์ของประชาชนโดยเฉพาะการเป็นตัวแทนในการหาทางออกแก้ไขปัญหาในแนวทางสันติวิธีกับภาครัฐ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างความสัมพันธ์ของการพูดคุยกับประชาชนจากหลาย ๆที่มีความแตกต่างกัน  ด้านเป้าหมาย คือ การสนับสนุนภาครัฐการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ สนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานภาคประชาสังคม และส่งเสริมประชาชนและชุมชนด้านความต้องการให้สามารถแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
    สำหรับการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทางผู้แทน USAID ได้ร่วมพบปะกับส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการหาแนวทางและข้อเสนอแนะข้อมูลโดยตรงเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและพัฒนา จชต. อีกทั้งขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐอีกด้วย

 392 total views

ศอ.บต.เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนบทบาทใหม่สอดรับยุทธศาสตร์การพัฒนา 20 ปีของประเทศ ใช้ชื่อ “การพัฒนาไร้รอยต่อ มิติใหม่การพัฒนาชายแดนใต้”

    สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจราชการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 การตรวจราชการในพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 และการประชุมที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี วันที่ 4 เมษายน 2561 ได้มอบนโยบายและข้อสั่งการให้ ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการเชื่อมโยงทุกมิติโดยไร้รอยต่อ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจ ให้มีการเชื่อมโยงการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงระบบการตลาดที่ปลายน้ำ และให้มุ่งเน้นการตลาดนำการผลิต รวมทั้งให้มีการเชื่อมโยงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (การศึกษา) ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในภาคเศรษฐกิจด้วยเหตุผลดังกล่าว ประกอบกับการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ศอ.บต. จึงได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาท ภารกิจ หน้าที่ โดยมีบทบาทหลักในการเชื่อมโยงการพัฒนาทุกมิติ การเสริมและเชื่อมต่องานพัฒนาของหน่วยงานภาคพลเรือนไม่ให้เกิดช่องว่าง การเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย และการสนับสนุน กอ.รมน. ภาค 4 สน. ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
    โดยในวันนี้ (29 ตุลาคม 2561) เวลา 09.00 น. ที่ ห้องประชุมน้อมเกล้า  ศอ.บต. ได้เชิญผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 4 ส่วน จาก 14 เขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัดภาคใต้ เพื่อร่วมหารือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ให้สอดรับกับนโยบายของภาครัฐและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้ง 2 ระบบคือ การผลิตและการตลาด โดย 4 ภาคส่วนประกอบด้วย 1.หน่วยงานของรัฐด้านการพัฒนา/สนับสนุนการพัฒนา อันได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตร กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงดิจิตัล กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม  2.หน่วยงานด้านการศึกษา ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ 5 จชต. วิทยาลัยชุมชน 3. หน่วยงานในพื้นที่  ได้แก่ จังหวัดทั้ง 5 จังหวัด และส่วนภาครัฐที่มีหน้าที่เร่งรัดผลักดันโครงการ ตลอดจนหน่วยงานด้านความมั่นคง 4. หน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ หอการค้าจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส ผู้ประกอบการด้านเกษตรอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในอนาคต ศอ.บต.จะเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกรูปแบบ
    ด้านพลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวด้วยว่า เป้าหมายการจัดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไร้ร้อยต่อ ขานรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยเชิญ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อประชุมหารือร่วมกัน ภาครัฐ ส่วนเกี่ยวข้องงานพัฒนา (Function) อาทิ หน่วยงานด้านการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ คมนาคม ดิจิตัล ฯลฯ  หน่วยงานพื้นที่ (Area) อาทิ จังหวัด ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนใต้ หน่วยงานภาคเอกชนที่ร่วมพัฒนา (PPP) อาทิ ผู้แทนนิคมอุตสาหกรรมภาคเอกชน หน่วยงานด้านทรัพยากรมนุษย์ หรือสถาบันการศึกษา ผลิตเยาวชนเข้าสู่ภาคแรงงาน และ ตัวแทนภาคประชาชน ทุกภาคส่วนจะมาระดมหารือการชี้แจงกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจ (เป้าหมาย  ความก้าวหน้า การพัฒนาในอนาคต ฯลฯ) ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่เมืองต้นแบบ พื้นที่อุตสาหกรรม ในพื้นที่ 5 จชต.รวม 14 พื้นที่ หารือแนวทางบูรณาการขับเคลื่อนในรูปแบบคณะกรรมการ/อนุกรรมการ หารือในประเด็นอุปสรรคการพัฒนา ในแง่กฎระเบียบ ข้อกฎหมายที่ต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงเร่งด่วน และหารือแนวทางการเชื่อมโยงการนำผลผลิตจากสถานศึกษาสู่การแสวงหาอาชีพ (ทั้งที่จบการศึกษาในประเทศและต่างประเทศโดยมี ผลสัมฤทธิ์ด้านการพัฒนา จากการขับเคลื่อนในลักษณะไร้รอยต่อตามแนวทางนี้ จัดทำแผนงานเชื่อมโยงการพัฒนา เขตเศรษฐกิจเพื่อให้การบริหารจัดการและเกิดเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไร้รอยต่อ สามารถดำเนินการเป็นรูปธรรมโดยเร็วตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีโดยมี ศอ.บต. เป็นศูนย์กลางนั้น ประกอบด้วย 14 เขตพื้นที่อันได้แก่ 1. โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) หรือการนิคมอุตสาหกรรม ในตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีขนาดพื้นที่ 1,218 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเชิง Cluster สำหรับอุตสาหกรรมยางกลางน้ำและปลายน้ำ โดยพื้นที่ Premium Zone เน้นรองรับอุตสาหกรรมทั่วไปหรือ ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยางพารา โดยเป็นอุตสาหกรรมสะอาดที่ไม่มีมลพิษ (Clean Industry) จำนวน 20 แปลง (438 ไร่) และพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลางและขั้นปลาย จำนวน 77 แปลง (779 ไร่) 2.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา (อำเภอสะเดา) ครอบคลุมใน 4 ตำบล ได้แก่ สะเดา, สำนักขาม, สำนักแต้ว, และ   ปาดัง-เบซาร์ รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 552.3 ตารางกิโลเมตร โดยกำหนดเป้าหมายให้เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ 3. เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมืองแห่งอุตสาหกรรมอนาคตประกอบด้วย ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2, การสร้างรางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2, พลังงานไฟฟ้าทางเลือก (Energy Complex) และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ 4.อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ได้กำหนดเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ ของตำบลปากบาง 5. อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง 3 อำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเมืองต้นแบบสำหรับการพัฒนา โดยกำหนดเป้าหมายให้เป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน ครอบคลุมทั่วพื้นที่ของอำเภอ 6. เขตประกอบอุตสาหกรรมบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป้าหมายเพื่อการพลิกฟื้นชีวิตเขตประกอบอุตสาหกรรม ที่มีโรงงาน ประมาณ 323 โรงงาน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 939 ไร่ ของตำบลบานา ให้มีความมั่นคง และสร้างความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้กลับมาโดยเร็ว 7. เขตนิคมอุตสาหกรรมปะนาเระ จังหวัดปัตตานี กำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมพื้นฐานระดับครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 173 ไร่ ของตำบลน้ำบ่อ 8. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนราธิวาส ได้กำหนดตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองให้เป็นศูนย์กลางการบริหารกิจกรรมการค้าชายแดนของพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 9. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนราธิวาส ได้กำหนดตำบลละหาร อำเภอยี่งอ มีพื้นที่ประมาณ 40.398ตารางกิโลเมตร (25,248.75 ไร่) โดยกำหนดเป้าหมายเป็น Trade Modern Simply เมืองรองรับกิจกรรมภาคอุตสาหกรรม – ภาคการเกษตร/ศูนย์โลจิสติกส์  10. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนราธิวาส ได้กำหนดตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบเป็น Culture Barrier @Takbai ศูนย์โลจิสติกส์และการขนส่งทางน้ำ / การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 11.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนราธิวาส (ตำบลสุไหง โก-ลก อำเภอสุไหง โก-ลก) ได้กำหนดตำบลสุไหง โก-ลก อำเภอสุไหง โก-ลก เป็น Sporting Recreation @Kolok เมืองศูนย์กลางการค้าและท่องเที่ยวชายแดน เน้นการท่องเที่ยวแบบสนุกสนานและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพพื้นที่ประมาณ 22.50 ตารางกิโลเมตร 12. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนราธิวาส ได้กำหนดตำบลโล๊ะจูด อำเภอแว้ง เป็น Eco – Roaming @Bala เมืองรองรับการขนส่งชายแดน และเมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 13. อำเภอ สุ ไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส  เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง 3 อำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเมืองต้นแบบสำหรับการพัฒนา โดยกำหนดเป้าหมายให้เป็นเมืองต้นแบบศูนย์กลางการค้าขายแดนระหว่างประเทศ ครอบคลุมทั่วพื้นที่ของอำเภอ และ 14. อำเภอเบตง จังหวัดยะลา  เป็นเมืองต้นแบบสำหรับการพัฒนา ก่อสร้างสนามบินเบตง โดยกำหนดเป้าหมายให้เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาแบบพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั่วพื้นที่ของอำเภอ
    พร้อมกันนี้ผู้แทนทั้ง 14 เขตเศรษฐกิจจะได้มีการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าของโครงการต่างๆในพื้นที่เขตเศรษฐกิจทั้ง 14 เขตภายใต้บทบาทและภารกิจที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงานให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา พร้อมปัญหาและอุปสรรค ในการดำเนินการต่างๆ ต่อไป

 480 total views