Select Page
จากการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระสำคัญ จำนวน 4 เรื่อง โดยหนึ่งในเรื่องที่สำคัญคือ ขอความเห็นชอบหลักการโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวชนราธิวาส ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2567 – 2571) ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ป่วยโรคทางจิตเวช ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบเหตุการณ์ความรุนแรง และโรคจิตเภท จำนวน 142,746 คน คิดเป็นร้อยละ 6.72 ของประชากรทั้งหมด (2,123,601 คน) นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยโรคทางจิตที่เกิดจากการ ใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอล์ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะถูกส่งตัวไปบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ จังหวัดสงขลา ก่อให้เกิดความไม่สะดวกและเป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องดำเนินการระหว่างการส่งต่อและรักษาตัวเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น
 
กรมสุขภาพจิต และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับ ศอ.บต. รับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความเห็นสอดคล้องว่ามีความจำเป็นในการจัดตั้งสถานพยาบาลเพื่อให้บริการด้านสุขภาพจิตอย่างครบวงจรขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และไม่เป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต จึงได้จัดทำข้อเสนอโครงการจัดตั้งโรงพยาบาลจิตเวชนราธิวาส ขนาด 200 เตียง เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริการ บำบัดรักษา และฟื้นฟู ผู้ป่วยจิตเวชจากเหตุการณ์ความไม่สงบและเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งผู้ป่วยยาเสพติดแบบครบวงจร ใน เขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ให้สามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนในพื้นที่ ตั้งแต่ การคัดกรองและตรวจประเมินอาการ การเข้ารับบริการบำบัดรักษาทั้งผู้ป่วยจิตเวชทั่วไปและผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด และส่วนสำคัญที่สุดคือการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยจิตเวช ก่อนส่งตัวกลับเข้าไปอยู่ในครอบครัว ชุมชนและสังคมได้อย่างปลอดภัย สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวและ บุคคลอื่นได้อย่างปกติสุข ไม่เป็นภาระของครอบครัว ชุมชนและสังคมในอนาคต ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนในการลดค่าใช้จ่ายช่วงการส่งต่อและรักษาตัว รวมทั้งยังเป็นหน่วยบริการทางสุขภาพจิตที่สำคัญในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดจากหลากหลายปัญหาทางจิตเวชที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2572 นี้

 177 total views,  2 views today