Select Page

จากการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระสำคัญ เรื่องขอความเห็นชอบข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย Soft power สัตว์เศรษฐกิจ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย นกปรอดหัวโขนหรือนกกรงหัวจุก เป็นสัตว์เลี้ยงที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นิยมเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ฟังเสียง และแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากการศึกษามูลค่าทางเศรษศาสตร์ตลอดห่วงโซ่ คุณค่าของธุรกิจการเลี้ยงนกกรงหัวจุกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า มีจำนวนนกกรงหัวจุกที่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ประมาณ 100,000 ตัว มูลค่าของนกรวม 645.58 ล้านบาท และสามารถสร้างกำไรที่ได้จากการเลี้ยง การแข่งขัน และการขาย รวม 2,236.42 ล้านบาทต่อปี แม้ว่าธุรกิจการเลี้ยงนกกรงหัวจุกจะก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากสถานะปัจจุบันนกกรงหัวจุกยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ผู้ครอบครองต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งทำให้เกิดความไม่คล่องตัวในการยกระดับการพัฒนานกกรงหัวจุกทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันที่กำหนดให้มียุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนา Soft Power ของประเทศขึ้น จึงเป็นโอกาสที่จะได้มีการยกระดับการพัฒนานกกรงหัวจุกให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ของพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ รองนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะประธาน กพต. จึงได้มอบหมายให้ ศอ.บต. ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามข้อเสนอของสมาคมผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทยที่มีการยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 110,000 รายชื่อ เสนอให้มีถอนรายชื่อนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอของสมาคมผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย ข้อสั่งการของประธาน กพต. และขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ศอ.บต. จึงได้หารือและรับฟังความ คิดเห็นกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันพัฒนา “นกกรงหัวจุก” ให้เป็น สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดวงจรการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน บนพื้นฐานการทำงานหลักที่ไม่ทำให้นกกรงหัวจุกตามธรรมชาติมีจำนวนลดลงและนำไปสู่การสูญพันธุ์ในท้ายที่สุด โดยมีแนวทางการดำเนินงานแยกออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

แนวทางที่ 1 การดำเนินงานของภาคประชาชน อาทิ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้สมาชิกซื้อนกจากแหล่งเพาะพันธุ์เท่านั้น พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษเชิงสังคมต่อผู้ซื้อขายนกกรงหัวจุกจากป่าธรรมชาติ ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการแจ้งเบาะแสและจัดการแก้ไขปัญหากรณีพบผู้ค้าที่ฝ่าฝืนนำนกจากป่าธรรมชาติมาจำหน่าย และร่วมมือกับฝ่ายวิชาการในการพัฒนาสายพันธุ์นกกรงหัวจุกให้เป็นที่สนใจของ ตลาดมากขึ้น

แนวทางที่ 2 การดำเนินงานของภาควิชาการ โดยสนับสนุนการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ อาทิ การศึกษาขนาดประชากรในธรรมชาติของนกกรงหัวจุกในปัจจุบัน การฝึกอบรมการเพาะพันธุ์นกอย่างมืออาชีพ การพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวข้องครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าจากต้นน้ำ– ปลายน้ำ

แนวทางที่ 3 การดำเนินงานของภาครัฐ โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งพิจารณาถอดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองฯ

ขณะที่ ศอ.บต. จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานงานและร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการผลักด้น “นกกรงหัวจุก” ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ สนับสนุนการพัฒนาสนามแข่งขันและจัดการแข่งขันทุกระดับทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนการดำเนินงานด้านกฎหมายเพื่อลดอุปสรรค และข้อจำกัดต่างๆ การสนับสนุนให้มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้กับกลุ่มวิสาหกิจและกลุ่ม อาชีพต่าง ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า

 129 total views,  1 views today