Select Page
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมพัฒนาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและการประนีประนอมยอมความที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ให้มีมาตรฐาน (หลักสูตรอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ที่ กพยช.รับรอง) รุ่นที่ 2 ณ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี โดยมีประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา และนราธิวาส ผู้นำศาสนาและผู้นำมุสลีมะห์ เข้าร่วม
 
นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกที่จะเข้ามาจัดการปัญหาความยุติธรรมในสังคมในช่วงกลางน้ำ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นพบว่ากระบวนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งโดยการไกล่เกลี่ยนั้น ผู้นำชุมชนจะเป็นที่พึ่งแรกของประชาชน โดยแบ่งลักษณะดังนี้ ความขัดแย้งทางอาญาประชาชนจะพึ่งผู้นำท้องที่เป็นหลัก ความขัดแย้งทางแพ่งประชาชนจะพึ่งผู้นำศาสนาและผู้นำสลีมะห์เป็นหลัก เนื่องจากวิถีชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามจะเกี่ยวเนื่องกับหลักศาสนาในทุกมิติ ส่งผลให้ความขัดแย้งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักน้อยลง แต่การไกล่เกลี่ยของผู้นำชุมชนนั้นพบว่าบางส่วนยังไม่มีการบันทึกข้อตกลงกัน หรือมีการบันทึกแต่ยังไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมาย ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นั้น ศอ.บต. ได้มีการระดมความคิดเห็นจากผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำศาสนาแล้ว และได้มีการจัดพิมพ์แบบบันทึกที่เป็นมาตรฐานตามกฎหมาย แจกจ่ายไปยังผู้นำชุมชนแล้วบางส่วน โดยยังมีจุดที่ต้องพัฒนาให้ผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยนั้นเป็นผู้ใกล่เกลี่ยที่มีกฎหมายรองรับ ศอ.บต.จึงขอใช้หลักสูตรอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 โดยตามที่คณะอนุกรรมการส่งเสริม พัฒนาและขับเคลื่อนการดำเนินงานการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2563 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 อนุญาตให้ ศอ.บต. นำหลักสูตรอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ(กพยช.) รับรอง ไปจัดฝึกอบรม ศอ.บต.จึงจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาเพื่อให้ผู้นำศาสนาและผู้ซึ่งทำหน้าที่ใกล่เกลี่ยนั้นเป็นผู้ใกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 อันจะนำไปสู่ข้อตกลงที่มีสภาพบังคับอย่างมีประสิทธิภาพ
 
สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ศอ.บต. ได้เล็งเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และถือได้ว่าเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ด้วยความขัดแย้งในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างทั่วถึงได้สมบูรณ์ และในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมทางเลือกเข้ามาจัดการความขัดแย้งให้เกิดดุลยภาพทางสังคมจนนำไปสู่สังคมแห่งความสันติสุขอย่างยั่งยืน โดยการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนออกเป็น 5 ด้าน 1. ด้านการป้องกันและเฝ้าระวังอาชญากรรม 2. การรับเรื่องราวร้องทุกข์ร้องเรียน 3. ด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและจัดการความขัดแย้ง 4. ด้านการเยียวยาเสริมพลังแก่เหยื่ออาชญากรรมและสังคม และ 5. ด้านการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเพื่อคืนคนดีสู่สังคม

 85 total views,  1 views today