Select Page
วันที่ ๑๙ มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. มอบหมายให้ นายรอมดอน หะยีอาแว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (ปค.) เป็นผู้แทน ศอ.บต. กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดกิจกรรมการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้งานระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุม ๓๐๓ อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา นายรอมดอน หะยีอาแว กล่าวในโอกาสนี้ว่า กิจกรรมดังกล่าว “ถือว่ามีความสำคัญ” ในการสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มฯ มาช่วยเหลือการทำงานและการวางแผนการติดตามความช่วยเหลือผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบได้ เช่น กรณีบาดเจ็บสาหัส พิการ/ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ให้สามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้สึกเป็นเกียรติที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ดำเนินการวิจัยฯ ในเรื่องดังกล่าว และนำมาถ่ายทอดให้กับผู้ที่ในอนาคตจะต้องนำระบบไปใช้งานจริง ซึ่งเชื่อว่าระบบนี้ ในอนาคตจะเกิดประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องขอขอบคุณที่ทุกฝ่ายมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหา
 
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย นักวิจัยจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้จากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๖ เจ้าของ“โครงการการพัฒนารูปแบบการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯ ไปสู่การพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรเพื่อเป้าหมายการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” กล่าวว่า ขอขอบคุณ ทาง วช. และ ศอ.บต. ที่ช่วยกันสนับสนุนทุนวิจัยและสนับสนุนกระบวนการวิจัยในครั้งนี้ จนเกิดผลงานที่ทาง ศอ.บต. สามารถนำระบบดังกล่าวไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงาน และอนาคตยังสามารถนำข้อมูลจากระบบไปวางแผนในการกำหนดนโยบายการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา แก่ครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบได้ โดยโมเดลดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาขึ้น จะทำการเก็บข้อมูลโดยอาสาสมัครหรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแลติดตามผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบฯ และโปรแกรมจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เกณฑ์ของ TPMAP “ครัวเรือนยากจน” จากทุน 5 ด้านประกอบด้วย ทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนเศรษฐกิจ ทุนทรัพยากรธรรมชาติ และทุนสังคม มาทำการประเมินระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ โดยจำแนกออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ กลุ่มอยู่ดี กลุ่มอยู่พอได้ กลุ่มอยู่ยาก และกลุ่มอยู่ลำบาก เพื่อนำมาวางแผนการช่วยเหลือให้เหมาะสม กับระดับผลลัพธ์ที่ประเมินได้
 
โดยกิจกรรมในครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเยียวยา โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เข้ารับการอบรม ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผอ.กสม. ผอ.กลุ่มงานเยียวยา และ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานเยียวยา กสม. และ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานวิจัย วิชาการ และกิจการพิเศษ กปค.

 144 total views,  2 views today