Select Page

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 67 นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) และนอ.จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เพื่อนำเรียนข้อมูลโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป้าหมาย 5 ปี 5,000 คน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวขอบคุณและชื่นชมว่า เป็นโครงการที่ดีมากสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดกับพื้นที่ชายแดนใต้อย่างแท้จริง สอดคล้องกับความตั้งใจที่ต้องการเร่งรัดพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี จากบุคลากรสาธารณสุขที่มีศักยภาพสูง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ โดยใช้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นต้นแบบ (model) ของการพัฒนานำร่องที่สามารถดำเนินการไปพร้อมกันทั้งระบบและพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ต่อไป

ต่อจากนั้นได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ ศอ.บต. ให้เข้าร่วมประชุมร่วมกับสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดี นพ.รายิน
อโรร่า รองอธิการบดี ผู้แทนจากคณะพยาบาลศาสตร์ อาจารย์ทีมวิจัยจากวพบ.ยะลา และวสส.ยะลา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประชุมเพื่อหาข้อสรุปการจัดทำคำขอและอนุมัติหลักการโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุมสมเด็จพระพุทธพจนวชิรมุนี 1 ชั้น 8 สำนักอธิการบดี กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี

การประชุมนี้ สืบเนื่องจากการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง ศอ.บต. และ สถาบันพระบรมราชชนก เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ณ ศอ.บต. จังหวัดยะลา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาในวิชาชีพสุขภาพ ได้แก่ วิชาชีพแพทย์ วิชาชีพพยาบาล วิชาชีพสาธารณสุข และหลักสูตรวิชาชีพสุขภาพที่ต่ำกว่าปริญญาตรี ให้กับนักเรียนและผู้มีคุณสมบัติเข้าศึกษาแต่ละหลักสูตร ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเมื่อสำเร็จการศึกษา จะต้องกลับมาปฏิบัติงานในภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรปฏิบัติงานและให้บริการในพื้นที่ รวมทั้งจากผลการศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพโดยวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนียะลา และวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา พบว่าปัญหาต่าง ๆ ที่พบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำคัญได้แก่ 1) อัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ มารดาหลังคลอด และทารกเสียชีวิตในครรภ์ 2) ภาวะทุพโภชนาการในเด็กวัยแรกเกิด – 6 ปี และ 3) การได้รับวัคซีนและการเข้าถึงระบบบริการของทารกแรกคลอด – 12 ปี มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก 1) ระบบบริการและการเข้ารับการบริการ 2) ความเชื่อ/วิถีชีวิต/วัฒนธรรม 3) ความต้องการสนับสนุนบริการทางสุขภาพ 4) ปัญหา/อุปสรรคในการรับบริการ และที่สำคัญคือ ศักยภาพของบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า เช่น อสม. ที่มีความใกล้ชิดกับผู้รับบริการมากกว่าบุคลากรสาธารณสุขประเภทอื่น ๆ ยังขาดความมั่นใจในการให้ข้อมูลทางสุขภาพ ขาดทักษะและความสามารถในการช่วยเหลือ ดูแลเบื้องต้น ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์ มารดาหลังคลอดและครอบครัวไม่ได้รับข้อมูล ชุดความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเอง ขาดการอธิบายคู่มือการส่งเสริมพัฒนาการ และผลข้างเคียงจากการรับวัคซีน จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะ 5 ปี (2568 – 2572)

โดยการประชุมวันนี้ มีข้อสรุปว่า สถาบันพระบรมราชชนก จะทำหน้าที่ในการผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข ปีละ 1,000 คนแบ่งเป็น โดยการพัฒนาอสม. ให้ได้รับการศึกษาหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 500 คน และบุคลากรสาธารณสุขอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ อีก 500 คน เช่น หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ 2 ปี 6 เดือน หลักสูตรเภสัชกรรมชุมชน หลักสูตรทันตสาธารณสุข หลักสูตรเวชกิจฉุกเฉิน และอื่น ๆ โดยวพบ.ยะลา และวสส. ยะลา จะไปสำรวจความต้องการและตลาดแรงงานที่รองรับวิชาชีพสุขภาพทุกวิชาชีพ เพื่อให้ demand และ supply มีความสมดุล สามารถเปลี่ยนผ่านกระบวนการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านการจัดการศึกษาของสถาบันพระบรมราชชนก

นอกจากนี้กระบวนการทำงานที่พัฒนาคู่ขนานกันคือการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ และระบบ ได้แก่ การขยายการครอบคลุมในส่วนของ Tele-Medical ที่มีแพทย์ประจำในการให้คำปรึกษา ให้ครอบคลุมมากขึ้น และการพัฒนาระบบการสื่อสารและการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ ทุกเส้นทาง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีเป้าหมายสำคัญจะช่วยแก้ปัญหาสาธารณสุขของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาและเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากลของสาธารณสุข (ตามปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น) โดยบุคลากรเหล่านี้จะไปช่วยในการแก้ไขปัญหาโดยตรง อีกทั้งรองรับงานสาธารณสุขที่จะดำเนินการอย่างมีมาตรฐานและเป็นไปโดยครอบคลุมทั่วถึงรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น บริการงานการแพทย์ฉุกเฉิน บริการทันตกรรมชุมชน บริการเภสัชชุมชน และอื่น ๆ ด้วยรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย ตามที่สถาบันพระบรมราชชนกออกแบบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพสุขภาพที่หลากหลาย

โดยภายหลังจากนี้ ผู้รับผิดชอบจะดำเนินการจัดทำเนื้อวาระให้สมบูรณ์ ก่อนนำไปเสนอต่อที่ประชุม กพต. และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ต่อไป

 167 total views,  2 views today