Select Page

วันนี้ (18 พฤษภาคม 2567) ที่ โรงแรมการ์เด้นวิว เบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธีปิดพร้อมมอบเกียรติบัตรในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพกลไกการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่มืออาชีพ โดยมี นางนิตยา มุทามาศ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเยียวยา กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต. ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานด้านการช่วยเหลือเยียวยาของ ศอ.บต. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ เข้าร่วม

สืบเนื่องจาก ศอ.บต. มีเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบ กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ในการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาทักษะ ของผู้ปฏิบัติงานเยียวยา ในการปรับกระบวนทัศน์ทางด้านความคิด การให้บริการ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม องค์ความรู้การพัฒนาทักษะ การเข้าถึง และรับรู้ทางด้านจิตใจ ของผู้ประสบเหตุรุนแรงให้ดียิ่งขึ้น

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง กลุ่มงานเยียวยา จึงได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพกลไกการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูพลังกลไกการให้ความช่วยเหลือเยียวยาและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการช่วยเหลือเยียวยา ของ ศอ.บต. เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรม มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจ การเสริมสร้างพลังบวกทางด้านจิตใจ และการสร้างการรับรู้ความเข้าใจ ของผู้ประสบเหตุการณ์รุนแรง พร้อมพัฒนาทักษะ และวิธีการปฏิบัติ ในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุการณ์รุนแรง

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ใช้ระยะเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-18 พฤษภาคม 2567 โดยขอบเขตเนื้อหาวิชาหลัก เป็นหลักสูตรการเยียวยาแนวทางฟื้นฟูอำนาจผู้ประสบเหตุการณ์ความรุนแรง จากทีมวิทยากรกลุ่ม ซึ่งดำเนินการในรูปแบบการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การบรรยายและการฝึกปฏิบัติ จากการอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมการอบรม มีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะในการดูแลตนเอง และผู้ได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้นและมีการพัฒนาทักษะในการถ่ายทอดสามารถนำความรู้ต่างๆไปถ่ายทอดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้

 93 total views,  1 views today