Select Page

วันนี้ (11 มิถุนายน 2567) เวลา 12.30 น. คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม (The Organization of Islamic Cooperation) หรือที่รู้จักกันดีในนาม OIC จำนวน 12 คน จาก 8 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศบรูไน อียิปต์ อิหร่าน มาเลเซีย มัลดีฟส์ ไนจีเรีย อินโดนีเซีย และประเทศอุซเบกิสถาน ได้เดินทางถึงจังหวัดปัตตานีเป็นที่เรียบร้อย เพื่อร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ โดยมี พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ร่วมต้อนรับ และร่วมรับประทานอาหารกลางวันพร้อมเพียงกัน ณ ห้องจะบังติกอ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

ในระหว่างรับประทานอาหารร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ ยังได้รับชมการแสดงบรรเลงดนตรีพื้นบ้าน จาก “วงเปอร์มูดาอัสลี” ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นบ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ดนตรีรองเง็ง” เป็นศิลปะการแสดงดนตรีประกอบการร่ายรำแบบไม่มีเนื้อร้อง เป็นการผสมผสานดนตรีหลายประเภทเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการดีดสี ตีเป่า บางส่วนก็เป็นเครื่องดนตรีสากล นั่นเพราะได้รับอิทธิพลจากชาวสเปน และโปรตุเกส ที่ได้มาแสดงในแหลมมลายู เมื่อคราวมาติดต่อค้าขายกันในอดีต ผสมผสานกับเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เพิ่มกลิ่นอายความเป็นมลายูจนกลายเป็นหนึ่งอย่างที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองเง็งในบริบทของวัฒนธรรมปัตตานี ถือเป็นรองเง็งในราชสำนัก ใช้ในการเล่นต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

จากนั้น คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม ได้ชมบูธจัดแสดงสินค้าของดีในพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยมีบูธนิทรรศการผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายชบาปัตตานี” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานี ทรงนำมาออกแบบผสมผสานกับลายดอกชบา (Hibiscus ไฮบิสคัส) และลายเถาไม้เลื้อย ที่สื่อถึงวัฒนธรรมพื้นถิ่นของจังหวัดปัตตานีและสร้างสรรค์ขึ้นเป็น “ผ้าลายชบาปัตตานี” พระราชทานเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้าชาวจังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างอัตลักษณ์ สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ของจังหวัดปัตตานี โดยมีสินค้าอุปโภค บริโภค และสินค้าฮาลาล นับเป็นสินค้าที่ได้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ แก่ผู้ประกอบการร้านค้า และประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งคณะฑูตต่างให้ความสนใจ และชื่นชมในศิลปะลวดลายบนผืนผ้าและสินค้าที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้

 132 total views,  2 views today