Select Page

วันนี้ (12 มิถุนายน 2567) พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้บรรยายสรุปภาพรวมเชิงนโยบายและการดำเนินงานมิติการพัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้แก่ คณะทูตประเทศมุสลิม ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 1 TK Park ยะลา เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการดำเนินงานของภาครัฐแก่คณะทูต เกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ กล่าวถึงจุดแข็งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งอยู่ตอนกลางของคาบสมุทรมลายูและเป็นจุดศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบกและทางทะเล ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมากกว่าร้อยละ 80 มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ประชาชนทุกหมู่เหล่าอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีต้นทุนและจุดแข็งที่เอื้อต่อการพัฒนาในหลายด้าน อาทิ การเกษตร
การท่องเที่ยว การพัฒนาธุรกิจและบริการฮาลาล การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐติดชายแดนไทยของมาเลเซียสู่การเป็นเมืองคู่แฝด (Twin cities) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

“อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่ดำรงอยู่ในพื้นที่มีอยู่ 2 ประการ คือ ปัญหาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข ปัญหาสังคมจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตตามอัตลักษณ์และความเชื่อ รวมทั้งประเด็นการให้ความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกับคนทุกกลุ่ม”

พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ว่า ว่า ศอ.บต. ได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร คือยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” “การพัฒนาภูมิสังคม” รวมถึงพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “สืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” แนวพระราชดำริ “จิตอาสา เราทำความดี ด้วยใจ”

“ทั้งนี้การดำเนินงานจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิดหน่วยงานส่วนกลางหรือหน่วยงานตามภารกิจหน้าที่ หน่วยงานเชิงพื้นที่ หน่วยงานที่มีภารกิจเฉพาะ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ความร่วมมือกับต่างประเทศ”

อย่างไรก็ตามภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน มีหน่วยงานของรัฐกว่า 40 หน่วยงาน ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสร้างสันติสุขในพื้นที่ โดยมี ศอ.บต. เป็นเจ้าภาพหลักกำกับ ดูแล ติดตาม และประเมินผล ในภาพรวม โดยมุ่งขับเคลื่อนงานสำคัญ 3 ด้านหลัก คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน การสร้างสังคมสันติสุขบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการแสวงหาทางออกโดยสันติวิธี

พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ กล่าวถึงความร่วมมือกับประเทศโลกมุสลิมที่ผ่านมาว่า การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา ประเทศโลกมุสลิมหลายประเทศได้ให้การสนับสนุนและประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคนในพื้นที่ อาทิ การศึกษาต่อต่างประเทศ การประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ การร่วมมือด้านการค้า การท่องเที่ยว และมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือในมิติต่างๆ อย่างใกล้ชิดและเกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการพัฒนา และบูรณาการงานกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง พร้อมก้าวต่อไปในอนาคต เพื่อให้การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความก้าวหน้า ในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ เชื่อมั่นว่า จะนำสันติสุขกลับสู่พื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาลโดยเร็ว

 139 total views,  2 views today