Select Page

วันนี้ (12 มิถุนายน 2567) คณะทูตประเทศมุสลิม เดินทางลงพื้นที่ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อรับทราบการดำเนินงานของภาครัฐ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ตามนโยบายของรัฐบาล นำไปสู่การพัฒนาและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

คณะทูต รับฟังข้อมูลการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนในด้านต่างๆนำเสนอโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และด่านศุกากรสุไหงโก-ลก ประกอบด้วย การพัฒนาชายแดนใต้สู่การเป็นเมืองคู่แฝด (twin cities) กับรัฐติดชายแดนของมาเลเซีย และการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 รับฟังข้อมูล การค้า การส่งออก-นำเข้าสินค้าผ่านด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก รวมถึงเส้นทางรถไฟเชื่อมจังหวัดนราธิวาส-เมืองตุมปัต รัฐกลันตัน มาเลเซีย เพื่อพัฒนาการค้าชายแดนและการค้าระหว่างประเทศ และการคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกมากยิ่ง ต่อยอดสู่การแสวงหาตลาดและโอกาสใหม่ๆ แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่

ในการนี้คณะทูตได้เยี่ยมชมสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก หรือ สะพานรันเตาปันจัง – สุไหงโก-ลก ปัจจุบันเปิดใช้งานมาแล้วเป็นระยะเวลา 51 ปี ถือเป็นสะพานที่มีความสำคัญในด้านการพัฒนาเศษฐกิจและด้านการขนส่งคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซียมาอย่างยาวนาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย มีการขยายการค้า การลงทุนร่วมกันเพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างสะพานคู่ขนานเพิ่มเติม เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

ปัจจุบันโครงการก่อสร้างฯ อยู่ระหว่างขั้นตอนการออกแบบโครงสร้างสะพาน การสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ รวมถึงอยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณ ถือเป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง กรมทางหลวง ประเทศไทย และกรมโยธาธิการ ประเทศมาเลเซียร่วมกัน จึงเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดี ระหว่างสองประเทศที่เชื่อมโยงกัน ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยน ทางวัฒนธรรม การคมนาคม และการขนส่ง เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาศักยภาพด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ถือเป็นประโยชน์อันดีร่วมกันในการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน

อย่างไรก็ตามการนำเสนอข้อมูล โครงการสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก แก่คณะทูตประเทศมุสลิมถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่ง ที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซียที่เชื่อมโยงกันในการร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและการขนส่ง เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ในอนาคต สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ตัวแทนผู้นำประเทศทราบถึงแนวทางการผลักดันโครงการ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ให้มีศักยภาพ ในเวทีโลกเพิ่มมากขึ้น ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การคมนาคมและการขนส่ง ถือเป็นประโยชน์อันดีร่วมกัน ในการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป

 111 total views,  1 views today