Select Page

วันนี้ (13 มิถุนายน 2567) คณะทูตประเทศมุสลิมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องนโยบายของรัฐบาลและการดำเนินงานของภาครัฐในการส่งเสริมการดำเนินชีวิตภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมและนำเสนอการดำเนินการและการสนับสนุนของรัฐบาลในการอนุรักษ์มรดกทั้งวัฒนธรรมอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ก่อนเข้าชมพิพิธภัณฑ์คณะทูตเยี่ยมชมเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณ์จากชุมชนสินค้า OTOP อาทิ ปลากุเลา ผ้าบาติก กระจูดรายา ผ้าทอ หลังจากนั้นเข้าห้องประชุมรับฟังการอ่านอัลกุรอานและการขับร้องอนาซีดจากนักเรียนจากนักเรียนโรงเรียนสมานมิตรวิทยา และรับฟังความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ฯ เยี่ยมนิทรรศการ ณ ห้องจัดแสดง อาทิ นิทรรศการพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัติย์ไทยและวิถีมุสลิมถิ่นใต้ ชมการสาธิตการอนุรักษ์คัมภีร์อัลกุรอานและการสาธิตการคัดลายมือภาษาอาหรับ

สำหรับพิพิธภัณฑ์ มรดกทางวัฒนธรรม ศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน นั้น มูลนิธิพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและมีคัมภีร์อัลกุรอาน ได้ให้กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมใช้ที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองของมูลนิธิ เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีคัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่คัดด้วยลายมือเก็บรวบรวมและดูแลรักษาไว้ ประมาณ 70 เล่ม มาจากในประเทศและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ตุรกี สเปน และเยเมน เป็นต้น ซึ่งมีอายุประมาณ 100 – 1,100 ปี โดยลักษณะการเขียนจะใช้น้ำหมึกสีดำเป็นภาษาอาหรับโบราณ ปกส่วนใหญ่หุ้มด้วยหนังสัตว์ บางหน้าตกแต่งลวดลายโดยใช้สีประดับกรอบด้วยทองคำเปลวเขียนด้วยศิลปะลาย มลายูนูซันตารา จีน และอาหรับ มาผสมผสานกัน จึงได้เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญของคัมภีร์เหล่านี้ ซึ่งถือเป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมอิสลาม จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอานขึ้นมา

สำหรับห้องจัดแสดงนิทรรศการหลัก 4 หัวข้อ ประกอบด้วย เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 และรัชกาลที่ 10 หลักมุสลิม วิถีชีวิต ถิ่นมุสลิม และห้องจัดแสดงคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งมีการจัดแสดงคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ และวัตถุที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตามการเดินทางเยือนพื้นที่ชายแดนใต้ ของ คณะทูตประเทศมุสลิมในครั้งนี้ เป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจของภาครัฐในการส่งเสริมการดำเนินชีวิตภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่ดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเท่าเทียมสะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้คณะ ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลไทย ในการแก้ปัญหา และ พัฒนา พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่งเสริมสนับสนุน การดำเนินกิจกรรม ของทุกศาสนิก ในพื้นที่

 115 total views,  2 views today