Select Page

ทูต กลุ่มประเทศมุสลิม ที่ประจำการในไทย บินสู่ปลายด้ามขวานของไทย จากการเชื้อเชิญของ ศอ.บต. และ กระทรวงการต่างประเทศ ถือเป็นปีที่ 2 ในการจัดกิจกรรม ตั้งเป้า “สื่อสารข้อเท็จจริง” เหตุการณ์ในพื้นที่ สื่อให้ได้รับรู้ ว่าชายแดนใต้ของไทย แม้จะมีความขัดแย้งบ้าง แต่ไม่ได้เป็นสงคราม จนไม่สามารถลงทุน-ท่องเที่ยวได้ อีกทั้งที่นี่ยังมีศักยภาพทั้งคน และทรัพยากร รัฐบาลไทยดูแลอย่างดี เท่าเทียม ให้อิสรภาพ

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับความเห็นของทูตโลกมุสลิม

“ไทย” มิได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม OIC (The Organization of Islamic Coopration) แต่เป็น ผู้สังเกตการณ์ และวางตัวเป็นพันธมิตรที่ดีต่อทุกๆประเทศในแถบตะวันออกกลางมาอย่างยาวนาน ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในโลกมุสลิม แต่กระนั้นไทยก็เผชิญกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้ จนนำไปสู่การเจรจากระบวนการสันติสุข

เป้าหมายที่ต้องการสื่อให้ กลุ่มประเทศโลกประเทศมุสลิมได้เห็นคือ เราดูแลคนของเรา ประเทศของเราอย่างเท่าเทียม และดีที่สุด ภายใต้กฎหมาย และ พร้อมน้อมรับความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ-การศึกษา-การลงทุน-การท่องเที่ยว เพื่อทำให้ ปชช. 3 จังหวัดที่มีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว ดีขึ้นไปอีก

ความเห็นทูตกลุ่มประเทศมุสลิมว่าอย่างไร

ทูตที่เดินทางลงชายแดนใต้ แบ่งเป็น ทูตต่างประเทศที่ประจำการในไทย 8 คน และทูตไทยที่ประจำการในต่างประเทศ แถบตะวันออกกลาง 4 คน เดินทางลง 3 จังหวัด เป็นครั้งแรกเกือบทั้งหมด โดยมี ศอ.บต. เป็นแม่งาน ร่วมกับแต่ละจังหวัด กำหนดจุดพรีเซ้นต์ เพื่อให้เห็นถึงวีถีชีวิต อัตลักษณ์ และความเป็นพหุวัฒนธรรม ‘พุทธ-อิสลาม-จีน’ ที่อยู่ร่วมกันได้ ไม่มีปัญหา เข้าใจ และเอื้ออาทรต่อกัน ที่สำคัญ ให้เห็นถึงศักยภาพของคนและทรัพยากรที่มีคุณภาพ สามารถต่อยอดการค้าการลงทุน ทั้งหมดนี้ใช้เวลา 3 วัน ตั้งแต่ 11-13 มิ.ย. 2567

อุปทูตไนจีเรีย นายมุฮัมหมัด อิดริส ไฮดารา ให้ความเห็น ณ มัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ว่า ครั้งแรกที่เยือนชายแดนใต้ไทย รู้สึกถึงบรรยากาศ และความเป็นอยู่ของคนที่นี่ตรงกันข้ามกับที่สื่อเสนอข่าวสาร ไม่ได้น่ากลัว หดหู่ ประชาชนยังยิ้มแย้ม อบอุ่น “สิ่งที่โลกควรรับรู้คือ การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมที่แสนสวยงามอย่างเข้าใจ เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก”

ต่อยอดการลงทุน ระหว่าง จชต. ไทย และโลกมุสลิม

เลขาธิการ ศอ.บต. พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ ย้ำชัดว่า เป้าหมายสำคัญของการเชิญทูตประเทศโลกมุสลิม ทั้งไทยและเทศ นอกจากจะสื่อสารให้สัมผัสข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเหตุการณ์แล้ว เป้าหมายใหญ่ คือ การยกระดับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ขยายตลาดการค้าการลงทุน นำวัสดุ และผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ สู่ ประเทศโลกมุสลิมที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมากและมีกำลังซื้อ สร้างเแผ่นดินใต้ เป็น Hab Halal ส่งออกสินค้าฮาลาล เนื่องจากรสชาติอาหารไทยนั้น เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก

นางฮาละห์ ยูซุฟ อะห์มัด เราะญับ เอกอัครราชทูตอียิปต์ กล่าวหลังพบนักธุรกิจ และชมสินค้าท้องถิ่น-สินค้าส่งออกของชายแดนใต้ ว่า “แม้อียิปต์จะไม่ได้มีพรมแดนติดกับไทย แต่อียิปต์ก็พร้อมส่งเสริมการค้าการลงทุน ระหว่าง อียิปต์-ไทย โดยเชิญนักลงทุนจากอียิปต์เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะชายแดนใต้ และพร้อมต้อนรับนักลงทุนไทยไปลงทุนในประเทศมอียิปต์ด้วย “ขอชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้หนุนเรื่องเศรษฐกิจ และการพัฒนาพื้นที่ จชต. อย่าเท่าเทียมกับพื้นที่อื่น”

สำหรับ อียิปสต์ เป็น 1 ในประเทศที่มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนใน 3 จังหวัด ต่อเนื่อง-ยาวนาน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้นำศาสนาคนสำคัญในประเทศไทยส่วนมาก จบการศึกษาจากมหา’ลัยดังในประเทศนี้ โดยทูตอียิปต์ได้กล่าวอีกว่า จะหนุนการศึกษาของประเทศไทยต่อไป และชื่นชมนักเรียนไทยในอียิปต์ที่มีความตั้งใจ ขยันที่จะศึกษาเล่าเรียน

ด้าน อุปทูตมาเลเซีย นายบอง ยิก จุย กล่าวว่า มาเลเซีย-ไทย มีสัมพันธ์ที่ดีมาอย่างยาวนาน เนื่องจากชายแดนติดกัน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ เดินทางเข้าออกสะดวก จึงพร้อมให้ความร่วมมือทั้งเรื่องการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว พร้อมเป็นภาคีร่วมกันต่อไป ส่วนความมั่นคงนั้น ก็ให้ความร่วมมือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว “เชื่อมั่นว่า นักท่องเที่ยวมาเลเซียจะปลอดภัย เมื่อเข้ามาเที่ยว-จับจ่ายสินค้าในไทย เพราะเชื่อมั่นในการทำงานของฝ่ายความมั่นคง”

ด้านนักธุรกิจ ผู้ประกอบการข้าวเกรียบปลานัสริน จ.ปัตตานี นางอารียา หะยีมะเด็ง เผย การเดินทางมาเยือนชายแดนใต้ของฑูตประเทศมุสลิม นับเป็นมิติใหม่ที่จะต่อยอดการค้าร่วมกับประเทศแถบอาหรับ หรือประเทศกลุ่มมุสลิม เจาะตลาดการค้าไปยังประเทศต่างๆ เนื่องจากสินค้าฮาลาลในชายแดนใต้ ได้รับความมั่นใจทั้งรสชาติ และเครื่องหมายฮาลาล “ที่ผ่านมาเราไม่มีโอกาสพรีเซ้นต์สินค้าให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ได้รู้จัก ครั้งนี้จึงเป็นก้าวแรก และหวังว่าจะสามารถเดินหน้าส่งออกสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดโลกมุสลิมได้ในอนาคต”

ต่างชาติ มองความขัดแย้งใน 3 จชต. อย่างไร

นายสรยุทธ ชาสมบัติ เอกอัครราชทูตไทย ประจำการกรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เผยถึงความเห็นต่างชาติ โดยเฉพาะคณะทูตต่างประเทศ ที่เดินทางมาด้วยกันว่า ต่างประเทศเข้าใจดีถึงความขัดแย้งในลักษณเนี้ ความขัดแย้งบางประการก็ต้องแก้ไขไปที่ละเปลาะ ทีละอย่าง ตนอาศัยอยู่อาบูดาบีกว่า 1 ปีครึ่ง ความขัดแย้งในตะวันออกกลางนั้นรุนแรงกว่ามาก และคิดว่า ชายแดนลภาคใต้เป็นดินแดนเรียบร้อย สวยงาม เหมาะแก่การตั้งรกราก ทั้งนี้พร้อมร่วมยกระดับคุณภาพชีวิต โดยหนุนการค้าขายและการลงทุนระหว่าง ประชาชนในพื้นที่กับประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย

สำหรับ ศอ.บต. โดยเฉพาะแนวคิดเลขาฯคนปัจจุบัน พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ก้าวข้ามช็อต ความขัดแย้งในพื้นที่ไปแล้ว พร้อมนำพื้นที่แห่งนี้ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เนื่องจาก มองว่า คนชายแดนใต้นั้น สุขกาย-ใจ พื้นที่ดี สังคมดี เป้าหมายต่อไป คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีอาชีพ รายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีอยู่แล้ว ให้ดีขึ้นไปอีก

 80 total views,  2 views today