Select Page
วันนี้ (25 มิถุนายน 2567) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมและการตลาด ณ โรงแรมซีเอส อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ระหว่างวันที่ 25 – 27 มิถุนายน 2567 เพื่อพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ให้ได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มุ่งเน้นเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย และการสร้าง มูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
 
โดยพิธีเปิดมีนายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการศอ.บต. เป็นประธานและพบปะกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชน กลุ่ม OTOP นักออกแบบ Start Up ตลอดจนกลุ่ม SME ขนาดเล็กและขนาดย่อม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมกว่า 100 คน
ภายในกิจกรรมมีการให้ความรู้ในหัวข้อ “การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์อย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทรนด์” การเลือกใช้วัสดุ สี ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ การทำแบบร่างในการ ออกแบบผลิตภัณฑ์ (Sketch Design) และหัวข้อ “ตลาดยุคใหม่เจาะใจลูกค้า” เรียนรู้วิธีคิดและแนวโน้ม ของตลาดในอนาคต Platform เครื่องมือในการเข้าถึงคน รวมถึงกิจกรรม Workshop ภายใต้แนวคิด “Creative Technique from Local to Global” เน้นกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ Design Thinking ใช้ตลาดนำการผลิต และแนวทางการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้แนวคิด BCG อาทิ การทำเครื่องประดับจากเศษผ้า และการทำกระเป๋าด้วยนวัตกรรมผ้าสะท้อนน้ำ จากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ
 
ทั้งนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านนโยบายเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) เป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาและยกระดับให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ ในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ มุ่งเน้นการยกระดับรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยอย่างทั่วถึง เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน แม้ว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมสิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่นเป็นจำนวนมาก แต่พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ ขาดองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับการวางแผนการพัฒนาคุณภาพและต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสร้าง มูลค่าสินค้า สร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ศอ.บต. จึงใช้แนวทางการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ ชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือ BCG Model เป็นกลไกหนึ่ง ในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนา 3 เศรษฐกิจ ไปพร้อมกัน ได้แก่ 1. เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้จากการผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการของท้องถิ่น ตอบสนอง ความต้องการของตลาดได้ เชื่อมโยงกับ 2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สนับสนุนให้เราใช้สิ่งของหรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้ คุ้มค่าที่สุด มีการวางแผนให้สิ่งของที่เราใช้สามารถคืนสู่สภาพเดิมหรือพร้อมนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และ 3. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่นำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับกลยุทธ์การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการของประเทศ เพื่อให้เป็นการแก้ไขปัญหาและสนองต่อนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 92 total views,  1 views today