Select Page

วันนี้ (14 กันยายน 2567) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิด “สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านดาหลา” ณ บ้านเกาะแลหนัง หมู่ที่ 3 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยมี นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ผู้นำศาสนา กลุ่มเด็กและเยาวชน มวลชนเครือข่ายจิตอาสา สมาคมดาหลาบารู ประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

สำหรับสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านดาหลา เป็นการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ มิติของผู้นำศาสนาและภาคประชาชน พ.ศ. 2567 ตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ปปส.) เมื่อ ธันวาคม 2566 ซึ่งการดำเนินงานในภาพรวม สามารถจัดตั้งแกนนำมวลชนจิตอาสาดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมายและจัดกิจกรรมดำเนินงานที่สำคัญใน 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนของงานป้องกัน ได้จัดทำโครงการเครือข่ายเด็กและเยาวชน ในระดับหมู่บ้าน ชุมชนและเยาวชน ในระดับองค์กร สมาคม ส่วนของงานแก้ไข ได้จัดทำโครงการสนับสนุนกลุ่มจิตอาสาเข้าสู่ชุมชน เพื่อสำรวจและช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด ให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาตามแนวทางของราชการ รวมทั้งการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำศาสนาเพื่อดำเนินงานการฟื้นฟูผู้ป่วยจากยาเสพติด โดยประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานสาธารณสุข

โดยการดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้เปิด”สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านดาหลา” ณ บ้านเกาะแลหนัง หมู่ที่ 3 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกับผู้นำศาสนา มวลชนจิตอาสา และส่วนราชการในพื้นที่ โดยเฉพาะ ฝ่ายปกครองและหน่วยงานด้านสาธารณสุขทุกระดับ (จังหวัด อำเภอ และตำบล) เพื่อร่วมพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานของสถานฟื้นฟูฯ บ้านดาหลา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด

นอกจากนี้ภายในงาน มวลชนเครือข่ายจิตอาสา สมาคมดาหลาบารู กลุ่มเด็กและเยาวชนได้ร่วมประกาศเป้าหมาย แสดงเจตนารมณ์ต้านภัยยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 ข้อ ได้แก่ จะสร้างจิตอาสาแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ได้อย่างน้อย 1,000 หมู่บ้าน จำนวน 3,000 คน ภายในปี 2568 , จะขออาสาร่วมป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เป็นผู้เสพรายใหม่ให้ได้ 100,000 คน ภายในปี 2568 และจะป้องกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึง 300,000 คน ในปี 2570 , จะขออาสาช่วยเหลือผู้เสพเข้าสู่ระบบการบำบัดแล้วให้ได้ไม่น้อยกว่า 3,000 คน ในปี 2568 และเพิ่มขึ้นในทุกๆปี, จะขออาสาติดตามผู้ผ่านการบำบัดแล้ว ไม่ให้หวนกลับไปเสพซ้ำอีก ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่ได้เข้ารับการบำบัดแล้ว ,และจะขออาสาร่วมกันรณรงค์ให้เลิกใช้พืชกระท่อมด้วยมาตรการของชุมชนและด้วยหลักการของศาสนา

 58 total views,  1 views today