Select Page

วันที่ 26 กันยายน 2567 พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวให้โอวาทและอวยพรพร้อมมอบใบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการอบรมหลักสูตรเชฟอาหารไทย (ฮาลาล) ระดับช้างเผือก ร่วมกับ นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ และนายณัฐพงษ์ ธีรนันทพิชิต อาจารย์ใหญ่ สถาบันการอาหารไทย พร้อมมีผู้แทนจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สถาบันฮาลาล และผู้ประกอบการในพื้นที่ ณ ห้องประชุมศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยมีผู้สำเร็จการอบรมรุ่นที่ 1 จำนวน 20 คน และรุ่นที่ 2 จำนวน 20 คน โดยมีประกาศนียบัตรจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1) ประกาศนียบัตรจาก ศอ.บต. และสถาบันการอาหารไทย 2) ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพผู้ประกอบอาหารฮาลาล ระดับ 4 3) ประกาศนียบัตรจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สาขาอาหารไทย

ศอ.บต. ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อน Soft Power ด้านอาหาร และการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล จึงกำหนดจัดกิจกรรมพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงหลักสูตรเชฟอาหารไทยฮาลาลระดับช้างเผือกโดยคัดเลือกผู้สนใจจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนรุ่นละ 20 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 40 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมการมีงานทำ สร้างรายได้ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี โดยการพัฒนาบนพื้นฐานศักยภาพ ความต้องการอัตลักษณ์ของพื้นที่ ประกอบกับแนวโน้มธุรกิจอาหารไทยในประเทศโลกมุสลิมมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านขนาดธุรกิจ การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานต่างประเทศ ประเภทวิชาชีพด้านการประกอบอาหารไทย (ฮาลาล) ของประเทศโลกมุสลิม และต่อยอดไปถึงการนำวัตถุดิบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รังสรรค์เมนูอาหาร สร้างอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น พร้อมดันครัวไทย สู่ครัวโลก เป็นการขับเคลื่อนการใช้ Soft Power ในการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสานความร่วมมือระหว่างบุคคลและองค์กรที่มีศักยภาพเพื่อร่วมบูรณาการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำคัญ ได้แก่ สถาบันการอาหารไทย (TCA) สถาบันฮาลาล มอ. วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ โดยส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนเพื่อให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลเพื่อการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงสู่ประเทศโลกมุสลิม (Chef Halal) ซึ่งผู้สำเร็จการอบรมในรุ่นที่ 1 ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ปัจจุบันได้ประกอบอาชีพในด้านอาหาร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ประเทศมาเลเซีย บาเรน และซาอุดีอารเบีย

การอบรมเชฟฮาลาล รุ่นที่ 2 มีกำหนดการอบรม ระหว่างวันที่ 5 – 26 สิงหาคม 2567 ซึ่งการอบรมแบ่งเป็น 2 ช่วง
– ช่วงที่ 1 อบรมในพื้นที่ สำหรับภาคทฤษฎี โดยวิทยากรจากสถาบันฮาลาล มอ. และมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
– ช่วงที่ 2 อบรม ณ สถาบันการอาหารไทย กรุงเทพฯ สำหรับภาคปฎิบัติ
โดยวิทยากรจากสถาบันการอาหารไทย กรุงเทพฯ ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมรุ่นที่ 2 ทั้ง 20 คน ได้สำเร็จการอบรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผ่านการทดสอบและประเมินผล ด้านอาหารไทยจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพสาขาอาหารไทยฮาลาล จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดยวิทยาลัยอาชีวะศึกษาปัตตานี

ทั้งนี้ ศอ.บต. มีนโยบายผลักดันและส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชนเพื่อให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลเพื่อการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงสู่ประเทศโลกมุสลิมต่อไป

 15 total views,  15 views today