Select Page
“เศรษฐกิจพอเพียง”เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย เป็นแนวคิดในการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ และยังพระราชดำรัส “การปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง” คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนได้จัดรูปแบบการปลูกให้เกิดคุณค่า บูรณาการในพื้นที่ทำกินให้มีสภาพใกล้เคียงป่า และสร่างมูลค่าต้นไม้ที่ปลูกให้เป็นทรัพย์ เพื่อออมและใช้แก้ปัญหาความยากจน

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จึงนำแนวคิดดังกล่าวเป็นทางหลักการขับเคลื่อนโครงการบูรณาการเกษตรก้าวหน้าริมทางหลาวง หรือ Smart Farm เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมด้วยกลไกประชารัฐ ร่วมใจ สร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเป้าหมายมุ่งสร้างไมตรีจิตที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรของประชาชน

นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศอ.บต.ระบุว่า โครงการ “Smart Farm” เป็นการร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยนำที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยเป็นแปลงเกษตร มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นที่ดินรกร้าง ไม่มีการใช้ประโยชน์เป็นระยะเวลานานให้สามารถพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ด้วยการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ ทั้งในลักษณะการเพาะปลูกเดิม และให้เพิ่มเติมพืชผลอื่นๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ร่วมฟื้นฟู ปรับภูมิทัศน์พื้นที่รกร้าง ไร้ประโยชน์ สมารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง

เลขาธิการ ศอ.บต. เล่าต่อว่า นอกจากการพลิกฟื้นที่ดินและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว โครงการดังกล่าวจะเป็นการรื้อฟื้นความสำคัญและบรรยากาศในอดีตว่า ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ร่วมกันโดยการแบ่งปันของกินของใช้ และทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ มุสลิม หรือศาสนิกชนอื่นๆ ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ในส่วนของประชาชนในพื้นที่ให้การตอบรับดี และดีใจที่ศอ.บต.ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยนายอาหลี สาแม ประธานกลุ่ม smart farmบอกว่า หลังหว่านเมล็ดถั่วเขียวบนเนื้อที่ของชาวบ้านกว่า 700 ไร่ ที่ตำบลลูโบะปูโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในวันที่ วันที่ 27 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา พร้อมกับรองเลขาธิการศอ.บต. นายจำนัล เหมือนดำ

นายอาหลี สาแม ประธานกลุ่ม smart farmเล่าอีกว่า ชาวบ้านแบ่งกลุ่มช่วยกันดูแล ซึ่งกรรมการกลุ่ม smart farm ก็เข้าไปสอดส่งดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าที่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเมล็ดถั่วเขียวจะสามารถเก็บไปขายได้ในระยะเวลา 75 วัน นับจากวันที่หว่านเมล็ด ซึ่งจะได้ผลผลิตทั้งหมด 3 แสนกิโลกรัม และจะนำไปขายเพื่อเพิ่มรายได้แก่ชาวบ้าน อย่างไรก็ดีคณะกรรมการจะหักรายได้จากชาวบ้าน 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปซื้อเมล็ดถั่วเขียวหว่านในครั้งต่อไป

สำหรับประโยชน์ของเมล็ดถั่วเขียว สามารถนำไปประกอบอาหารคาวหวานได้ อาทิ ใส่ในก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง หรือไอศกรีม ไส้ขนมหวานต่างๆ อีกทั้งมีสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ประมาณ 60-65 เปอร์เซ็นต์ และถั่วที่มีไขมันน้อยที่สุด เพราะจากข้อมูลของสถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้แจงเอาไว้ว่า ปริมาณไขมันที่พบได้ในถั่วเขียวมีเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ผิดกับถั่วลิสงที่มีไขมันถึง 44 เปอร์เซ็นต์ ส่วนถั่วเหลืองก็มีไขมันไม่แพ้กันอยู่ที่ประมาณ 16-17 เปอร์เซ็นต์ การรับประทานถั่วเขียวจึงไม่ค่อยมีผลกระทบต่อผู้มีระดับของไขมันในเลือดสูง

อย่างไรก็ดี ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอาชีพทำนาและกรีดยางพาราเป็นอาชีพหลัก ซึ่งการที่ศอ.บต.ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชไร่เพื่อนำไปปรุงอาหารคาวหวานและขาย จะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นการรื้อฟื้นความสำคัญของบรรยากาศในอดีตว่าประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่อย่างสงบสุข พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอีกด้วย

 543 total views,  1 views today