Select Page
     สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคหัดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีและคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มการแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 พบเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี เสียชีวิตจากโรคหัดแล้ว จำนวน17 คน โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคหัด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเร่งหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในวันนี้ (13 พฤศจิกายน 2561 ) พลเรือตรี สมเกียรติ   ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทน เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุม  หาแนวทาง การป้องกัน การแพร่ระบาดโรคหัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี สำนักงานป้องกัน ควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำศาสนา สำนักงานสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ อสม. จากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประชุม
    พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชแทนเลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นไปตามที่ รัฐบาลกำหนดให้ ศอ.บต. มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน และการพัฒนา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แบบไร้รอยต่อ และครบวงจร ซึ่งเป็นมิติใหม่ชายแดนใต้ โดยในครั้งนี้ ศอ.บต.ได้เชื่อมโยงทางการแพทย์สาธารณสุข และสังคม ในดำเนินการป้องกัน รักษา และควบคุม การแพร่ระบาด ร่วมกับ กอ.รมน. ภาค 4 สน. ผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรศาสนา หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และองค์ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยเน้นมาตรการป้องกันให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงอายุตั้งแต่ 9 เดือน – 5 ปี เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรคหัด ซึ่งในกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนนั้นจะสามารถป้องกันการเกิดโรคหัดได้ร้อยละ 95
    รองเลขาธิการ ศอ.บต. รักษาราชแทนเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาสถานศึกษาอยู่ในช่วงปิดภาคเรียน เด็กอาจจะเดินทางไปอาศัยในต่างพื้นที่ รวมถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้ปกครองบางส่วนในการรับวัคซีนเพื่อป้องรักษาโรคหัด ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหา และ ควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้อย่างยั่งยืน ศอ.บต .จึงได้กำหนดเป้าหมาย “ปี 2563 พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ปลอดโรคหัด” โดยมีการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีระบบการติดตามอย่างดี ใน เป้าหมาย ขั้นต้นเด็ก อายุ 9 เดือน – 12 ปี ที่ ถึงวัยฉีดวัคซีน ต้องฉีดวัคซีน ร้อยละ 95 และในอนาคตเด็ก จะต้องฉีดครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของการสร้างความเข้าใจ ได้จัดทำเอกสาร ข่าวสั้น รณรงค์ สร้างความเข้าใจทั้ง ภาษาไทย และมลายู รวมทั้งองค์กรศาสนาได้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมายและทุกพื้นที่
     ด้านนายอาหาหมัดอับดุลห์ หะยีมะ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด นราธิวาส  กล่าวด้วยว่า วัคซีนที่นำมาใช้ส่วนใหญ่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าตัวยาที่นำมาใช้มีความถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งวัคซีนโรคหัดก็เป็นหนึ่งในวัคซีนที่ไม่สามารถยืนยันได้เช่นกัน แต่ตามหลักศาสนาอิสลามอนุโลมให้ใช้ได้เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาด และหากตัวยาได้รับการพิสูจน์แล้ววัคซีนตัวนี้มีสารที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในพื้นที่ หรือสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งถือเป็นองค์กรที่สูงสุดของประเทศไทย จะมีการประกาศแจ้งให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบอย่างแน่นอน
    ทางด้าน นพ.มูหมัดดาโอ๊ะ เจะเลาะ ที่ปรึกษาสมาคมจันทร์เสี้ยว การแพทย์และสาธารณสุข เปิดเผยอีกด้วยว่า วัคซีนโรคหัดเป็นวัคซีนที่มีเชื้อหัดที่ยังมีชีวิตอยู่แต่อ่อนแอลง ซึ่งจะทำงานโดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ให้หลั่งภูมิคุ้มกันออกมาต่อสู้กับเชื้อ ซึ่งภูมิคุ้มเหล่านี้จะหลั่งออกมา และสามารถป้องกันการติดเชื้อหัดได้หากมีการติดเชื้อในอนาคต โดยเฉพาะมนุษย์ถือเป็นพาหะหรือแหล่งเพาะเชื้อโรค แต่หากทุกคนมีภูมิต้านทานของโรคที่ดี เชื้อที่เข้าไปสู่ร่างกายก็จะไม่สามารถเพาะเชื้อโรคได้ แต่จะถูกทำลายด้วยภูมิต้านทานที่เรามี เชื้อโรคดังกล่าวนั้นก็จะหายไป

 99 total views,  1 views today