Select Page

วันนี้ (4 มีนาคม 2564) ที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า นายธีรพงศ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะ โฆษก ศอ.บต ร่วมแถลงข่าวผลการปฏิบัติงานของ ศอ.บต. ในห้วงที่ผ่านมา โดย ศอ.บต. ได้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนรวมทั้งดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง

นายธีรพงศ์ เพชรรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ในฐานะ โฆษก ศอ.บต. เผยว่า สำหรับในห้วงที่ผ่านมา ศอ.บต.  ได้ ดำเนินการขับเคลื่อนงานในมิติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ซึ่งมีผู้บริหาร ศอ.บต. นำโดย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เข้าร่วมประชุม และมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุม  ทั้งนี้ในที่ประชุมมีประเด็นการพิจารณาและเร่งรัดการดำเนินการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการหารือพิจารณาประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไข จำนวน 4 เรื่อง คือ การแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา การบริหารจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาสุขภาวะและภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็ก และหารือแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส   

สำหรับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราส่งผลให้ใบยางพาราร่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการระบาดอย่างหนักและรุนแรง เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2562 และปี 2563 ทั้งปี ขณะนี้ในพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาสเข้ามาแล้ว 80% พื้นที่การทำสวนยางได้รับผลกระทบ 770,000 ไร่ จาก 900,000 ไร่ของยางพาราในจังหวัดนราธิวาส ทำให้ปริมาณน้ำยางลดลงประมาณ 40-50% ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติ ได้มีการมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เร่งดำเนินการเป็นการเร่งด่วน โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานประสานงาน จัดทำข้อมูลการทำงานที่เป็นระบบและติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ศอ.บต.  ได้จัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางป้องกัน การแก้ไขปัญหา และมาตรการการฟื้นฟูเยียวยา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ส่วนปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความยั่งยืน เพื่อเเก้ไขวิกฤติปัญหาน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากและน้ำแล้ง ที่ประชุมมีมติ ให้ ศอ.บต. ประสานการทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นเอกภาพและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องปัญหาสุขภาวะและภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ประชุมมีมติ มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันทำงานให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายและกรอบเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมมอบหมายให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและสำนักงบประมาณให้การสนับสนุนการทำงานเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่

 ในส่วนของแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ จังหวัดนราธิวาส ศอ.บต. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ต่อไปเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เห็นเป็นรูปธรรม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศอ.บต. ยังได้มีการดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง โดยได้ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นเร่งดำเนินการ โดย ศอ.บต. ได้ดำเนินการกิจกรรมสนับสนุนด้านศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงกิจกรรมไทยพุทธคืนถิ่น ศอ.บต. ได้ร่วมกับ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และสมาพันธ์ชาวไทยพุทธ ทั้ง 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มไทยพุทธเปราะบางที่อพยพย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่ และมีความคิดจะอพยพย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่ ให้กลับคืนถิ่นบ้านเกิด สร้างขวัญและกำลังใจ พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างแรงจูงใจไม่ให้อพยพย้ายถิ่นฐานออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มเติม โดยในปีงบประมาณ 2563 ได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้านให้มีสภาพที่พักอาศัยได้ ให้แก่ชุมชนไทยพุทธเปราะบางขึ้นในพื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน 108 หลัง จังหวัดปัตตานี จำนวน 46 หลัง จังหวัดนราธิวาสจำนวน 55 หลัง และจังหวัดสงขลาจำนวน 42 หลัง รวมจำนวน 251 หลัง เพื่อให้มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย โดยผ่านการสำรวจจากเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ร่วมกับศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปพร.) ทหาร ตำรวจ และศูนย์ปฏิบัติการในแต่ละพื้นที่ สำรวจชาวไทยพุทธที่มีฐานะยากจน และพักอาศัยอยู่ในชุมชนเปราะบาง อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจและรู้สึกดีใจที่ศอ.บต.ตลอดจนทุกภาคส่วนได้ ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนอุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้านให้สามารถกลับมามีที่พักอาศัย เพราะอยากกลับมาใช้ชีวิตอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันที่บ้านเกิดอีกครั้ง

ศอ.บต. ยังได้หารือเพื่อช่วยเหลือกลุ่มนักศึกษาชายแดนใต้ที่ไปศึกษายังต่างประเทศและต้องกลับภูมิลำเนาเนื่องจากได้รับผลกระทบจาก Covid-19 โดยได้จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้จากต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) โดยกลุ่มดังกล่าวมีข้อจำกัดในการทำงาน รวมถึงมีปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และยังไม่ได้รับรองจากหน่วยงานภาครัฐของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาไทยมุสลิมในต่างประเทศและจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ บางส่วนสำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ แต่ไม่สามารถเทียบวุฒิการศึกษาเพื่อเข้ารับการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นหรือยื่นสมัครเข้ารับราชการหรือสมัครงานใน บริษัท เอกชนบางแห่งได้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้มีข้อสั่งการให้ ศอ.บต. ดำเนินการช่วยเหลือด้านการการศึกษาของนักศึกษากลุ่มดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ศอ.บต. จึงได้จัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้นเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา กำหนดจัดขึ้นเป็นจำนวน 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 ในวันที่ 15 – 16 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาไทยชายแดนใต้ กลุ่มประเทศอินโดนีเซีย ครั้งที่ 2 จัดขึ้นในวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ จอร์แดน คูเวต อิหร่าน UAE) ครั้งที่ 3 จัดขึ้นในวันที่ 22 – 23 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มประเทศทวีปเอเชียใต้ (อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ) และแอฟริกา (ลิเบีย โมรอคโก ซูดาน) และครั้งที่ 4 จัดขึ้นในวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาไทย จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มประเทศอาเซียนและอื่น ๆ (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น)

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นต่างๆ เพื่อหาแนวทางแก้ไขโดยกลุ่มที่ต้องการรับรองวุฒิการศึกษา เพื่อยื่นสมัครเข้าทำงานในสถานประกอบการหรือบรรจุในหน่วยงานของรัฐ ในกรณีการทำงานในภาคเอกชน สถานประกอบการบางแห่งให้ความสำคัญในเรื่องความรู้และทักษะของนักเรียน นักศึกษามากกว่าคุณวุฒิที่ได้รับ อย่างไรก็ตามหากประสงค์ให้มีการรับรองคุณวุฒิของนักเรียน นักศึกษา สามารถประสานกับสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  เพื่อดำเนินการได้และอีกกลุ่มหนึ่งคือกรณีการสมัครเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ สามารถตรวจสอบคุณวุฒิกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ทั้งนี้เงื่อนไขให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนด/รับรอง

 426 total views,  1 views today