Select Page

วันนี้ (7 มีนาคม 2564) เวลา 14.00 น. ที่ หมู่บ้านเปาะยานิ หมู่ที่ 3 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานปล่อยขบวนคาราวานรถยนต์ ขนต้นไผ่ เพื่อลำเลียงสู่โรงงานไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ชุมชน พร้อมกันนี้ยังเป็นประธานตัดต้นไผ่ต้นแรกซึ่งเป็นแปลงไผ่ที่ได้ปลูกนำร่อง เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับสภาเกษตรตำบล วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายใหม่ ตลอดจนประชาชนชาวสวนไผ่ในพื้นที่ที่มาร่วมในพิธีในครั้งนี้ด้วย

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร กล่าวว่า ศอ.บต. ได้ร่วมมือกับทุกๆ หน่วยงาน เพราะหน้าที่ของ ศอ.บต. คือช่วยพี่น้องประชาชนให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ดังนั้น ศอ.บต. ต้องพยายามทุกด้านเพื่อหาวิธีช่วยเหลือพี่น้องประชาชน หลายครอบครัวมีพื้นที่ไว้ปลูกต้นยางพารา ต้นมะพร้าว ต้นปาล์ม หรือผลไม้ต่างๆ แต่บางคนปล่อยที่ดินให้ว่างเปล่า หรือมีที่ดินในสวนยาง ซึ่งควรนำมาใช้ประโยชน์มากกว่านี้ จึงได้คิดว่าพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างความมั่นคงในอาชีพนั้น คือ ไผ่ เพราะไผ่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย รวมถึงสามารถนำมาเป็นพลังงานไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เพราะโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งสิ้นจำนวน 15 โรง และในพื้นที่จังหวัดยะลา มีจำนวน 4 โรง ดังนั้นต้นไผ่ เป็นที่ต้องการอย่างมากและในอนาคตอาจมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร กล่าวอีกว่า ไผ่ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นในอนาคต และน่าจะเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน แต่ในปัจจุบันก็ยังมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทางภาครัฐโดย ศอ.บต. กำลังเร่งส่งเสริมให้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เดิมไผ่เป็นพืชสำคัญที่คนไทยนั้นปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนา การที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรมาปลูกไผ่ในเชิงพาณิชย์นั้น จำเป็นจะต้องมีการทำความเข้าใจในทุกภาคส่วน ทำให้เห็นภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำร่วมกัน ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้มีการสร้างเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดยะลา ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนไผ่เศรษฐกิจร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการที่ดิน การปลูกพืชแบบวนเกษตร การปลูกไผ่ และการเลือกพันธุ์ โดยมีวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้อำเภอกาบัง เป็นกลุ่มเกษตรกรแรกๆ ที่เข้ามาศึกษาเรื่องการปลูกไผ่เศรษฐกิจอย่างจริงจัง จนทำให้ชาวบ้านทุกพื้นที่ให้ความสนใจ และร่วมกันปลูกไผ่ จนได้รับความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้

ด้านนายอับดุลรอเซะ บาเอะ เจ้าของสวนไผ่ กล่าวว่า เมื่อก่อนไม่มีอะไรเลย หลังจากได้รู้จักกับชาวบ้านท่านหนึ่ง และได้แนะนำให้เข้าร่วมโครงการปลูกต้นไผ่กับ ศอ.บต. จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ การปลูกไผ่ ไม่ต่างกับการปลูกผักทั่วไป เพราะใช้ระยะเวลาแค่ 2 ปี ก็ได้ผลผลิตเพื่อนำไปจำหน่ายได้ เป็นการเสริมรายได้ให้ครอบครัว และถ้าเราปลูกไผ่แล้วไม่รู้จะนำไปขายที่ไหน ตรงนี้ไม่ต้องกังวลใจเพราะมีสภาเกษตรในพื้นที่ให้คำปรึกษา และหาตลาดเพื่อนำไปจำหน่ายให้อีกด้วย ถือเป็นโครงการที่ดีมาก และในอนาคตตสวนไผ่แห่งนี้จะต้องพัฒนาแปลงไผ่ให้ดีขึ้นไปมากกว่าเดิม ขอขอบคุณเลขาธิการ ศอ.บต. ที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมาก การที่ท่านส่งเสริมให้ปลูกต้นไผ่ในพื้นที่นั้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นได้จริง

ด้านนายซอพี อุชะมิ ทายาทเกษตรกรอำเภอรามัน กล่าวว่า ขอบคุณ ศอ.บต. ที่ได้ขับเคลื่อนเรื่องไผ่ ปัจจุบันจากไม่มีงานตอนนี้มีงานเพิ่มขึ้น รายได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ครอบครัวของตนเองมีกำลังใจต่อการทำเกษตรมากขึ้น ปัจจุบันพื้นที่อำเภอรามันได้ทำสัญญากับบริษัทโรงงานไฟฟ้าในพื้นที่แล้วจำนวน 20,000 ต้น โดยคิดต้นละ 40 บาท ซึ่งใช้พื้นที่ในการปลูกจำนวน 890 ไร่ ใน 8 ตำบล

 

 585 total views,  1 views today